welcome for shared knowledge and experience





วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การบริหารคุณภาพทางการพยาบาล

บทนำ

สภาการพยาบาล (อ้างถึงในวิจิตรา กุสุมภ์, 2553หน้า 3  ) ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2540 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความหมายของการพยาบาลไว้ว่า :-“การพยาบาลเป็นการกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการดูแลและช่วยเหลือเมื่อเกิดการเจ็บป่วย  การฟื้นฟูสภาพ  การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์ กระทำการรักษาโรคทั้งนี้โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาล[1]     จากความหมายการพยาบาลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าวิชาชีพพยาบาลมีการกระทำต่อมนุษย์โดยตรง กิจกรรมการพยาบาลต่างๆ ในบทบาทของพยาบาลย่อมต้องกระทำ เพื่อมุ่งให้เกิดเป้าหมายหรือผลลัพธ์ทางการพยาบาล  ให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย (patient safety)  ซึ่ง ความปลอดภัยมีความสำคัญต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพของผู้ป่วยทุกวัย และการบรรลุเป้าหมายของการเป็นโรงพยาบาลคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นให้จัดบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและประชาชน[2] (วีณา จีระแพทย์และเกรียงศักดิ์ จีระแพทย์.(2550) หน้า 1) และ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 9 สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ มาตรา 51 บุคคลย่อมมีสิทธิ์เสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม มีมาตรฐานและผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นสภาการพยาบาลจึงได้กำหนดมาตรฐานหลักของบริการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทั้งที่เป็นบริการในชุมชนและในสถานบริการด้านการสาธารณสุข เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ในการสร้างมาตรฐานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละหน่วยงานซึ่งจะนำไปสู่การบริการพยาบาลที่มีคุณภาพต่อไป (วิจิตรา กุสุมภ์, 2553หน้า 320 )
            สำหรับประเทศไทยกระบวนการพัฒนาและการรับรองคุณภาพ เริ่มจากการนำแนวคิด Total Quality / Continuous Improvement  (TQM / CQI) มาทดลองปฏิบัติในโรงพยาบาลของรัฐ 8 แห่ง เมื่อปีพ.ศ. 2535  ได้จัดทำมาตรฐานเพื่อการรับรองคุณภาพ และเริ่มนำมาปฏิบัติเพื่อทดลองประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลเมื่อพ.ศ. 2540 ในลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้เกิดภาคีเพื่อการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลรวมทั้งการปรับจากโครงการวิจัยและพัฒนามาเป็นสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2542   การให้บริการด้านสุขภาพได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาระบบคุณภาพสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย  ควบคุมและป้องกันความเสี่ยง โดยการผสมผสานแนวคิดเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ในกระบวนการพัฒนา คุณภาพ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้บุคลากรในโรงพยาบาลเข้าใจและเห็นคุณค่าของการรักษาแบบองค์รวมที่เน้นมิติทางจิตใจ (วิจิตรา กุสุมภ์, 2553หน้า 321)  
                   

การพัฒนาระบบคุณภาพต่างๆ ที่กล่าวมา ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของ คำว่า คุณภาพ ไว้มากมาย อาทิ
§  คุณภาพคือการไม่มีข้อผิดพลาด
§  คุณภาพคือการได้ผลงานตรงตามที่มาตรฐานกำหนด
§  คุณภาพคือการที่สามารถกระทำได้ถูกต้อง ได้มาตรฐาน ตรงความคาดหวังของลูกค้าตั้งแต่แรก และทุกครั้ง โดยที่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายพอใจ ภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุด
            โดยสรุป คำจำกัดความของคำว่าคุณภาพ ในปัจจุบัน โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบ ดังนี้
§  สามารถตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้า
§  ได้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด
§  ปราศจากข้อบกพร่อง
§  เกี่ยวข้องกับคน กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการและสิ่งแวดล้อม
§  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความสุข
§  มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง  (สิทธิศักดิ์ พฤกษ์ปิติกุล,2544)
§  คุณค่าและเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพ (สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล,2551 อ้างในวิจิตรา กุสุมภ์และคณะ, 2553)
            คุณค่าและเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลคือ
1.      ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการ
2.      บุคลากร หรือ คนทำงาน
3.      องค์กรและสังคม         
ดังนั้นการที่ผู้ใช้บริการจะมั่นใจว่าการบริการพยาบาลที่ได้รับนั้นมีคุณภาพหรือไม่มากน้อยเพียงใด ผู้บริหารองค์กร และผู้บริหารการพยาบาลต้องมีการประกันคุณภาพว่า ดี มีคุณภาพนั่นเอง


[1] วิจิตรา กุสุมภ์ และคณะ. (2553). ประเด็นและแนวโน้มวิชาชีพการพยาบาล Trends & Issue of Nursing Profession.กรุงเทพ ฯ:  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหปราพาณิชย์.
[2] วีณา จีระแพทย์และเกรียงศักดิ์ จีระแพทย์.(2550) การบริหารความปลอดภัยของผุ้ป่วย การบริหารความปลอดภัยของผู้ป่วย [หนังสือ]. - กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุธาการพิมพ์, 2550.

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน