welcome for shared knowledge and experience





วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีพัฒนาการ (Theories of Development)


เอกสารประกอบการสอนวิชา  จิตวิทยาทั่วไป
หน่วยที่ 4 พัฒนาการของมนุษย์
   แผนการสอนที่ 4.2 หัวข้อ ทฤษฎีพัฒนาการ (Theories of Development)
ผู้สอน อาจารย์ธิดารัตน์  เลิศวิทยากุล
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
วัตถุประสงค์ทั่วไป
1. ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของมนุษย์
2. ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. สามารถอธิบายความหมายของพัฒนาการ
2. สามารถอธิบายหลักของพัฒนาการ (Principle of Development)
3. สามารถอธิบายทฤษฎีพัฒนาการ (Theories of Development)

ทฤษฎีพัฒนาการTheories of Development
การศึกษาทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนนั้น ผู้ศึกษาควรมีความรู้ในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการขั้นพื้นฐานเสียก่อน ซึ่งทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychosexual and Personality Development)
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของอีริกสัน (Erikson’s Psychosocial Theory)

ทฤษฎีพัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ 
(Freud’s Psychosexual and Personality Development) 
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Simund Freud) ผู้นำกลุ่มจิตวิเคราะห์ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีทางพัฒนาการไว้ว่า พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของบุคคล ต้องอาศัยการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเป็นลำดับขั้นจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ถาวรในที่สุด ซึ่ง ฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับ ช่วงระยะวิกฤติ (Crisis Period) นั่นคือช่วงระยะแรกเกิดถึงห้าปี ด้วยเหตุที่ว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความต้องการในการแสวงหาความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure Principle) ให้กับตนเอง ฟรอยด์ได้เสนอแนวคิดว่าคนเราจะมีบริเวณที่ต้องการให้สนองตอบที่เรียกว่า อีโรจีเนียส (Erogenous zone) ซึ่งบริเวณที่ว่านี้จะเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของอายุ ถ้าบริเวณอีโรจีเนียสไปหยุดอยู่ตรงที่ใดแล้ว ไม่ได้รับการสนองตอบที่พึงพอใจ จะเกิดการติดตรึงหรือชะงักงัน (Fixation) ซึ่งทำให้มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลผู้นั้นไปตามบริเวณที่เกิดการติดตรึง ซึ่งฟรอยด์ได้กำหนดบริเวณที่อีโรจีเนียสเคลื่อนที่ไปตามอายุไว้ 5 ระยะ ดังนี้
1) ระยะปาก (Oral Stage)
มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี เป็นระยะที่ปากไวต่อการตอบสนองความสุข นั่นคือบริเวณอีโรจีเนียสอยู่ที่ปาก เด็กจึงใช้ปากเพื่อสร้างความพึงพอใจ เช่น กัด ดูด อม ทำเสียงต่าง ๆ หากเด็กถูกขัดขวางในการตอบสนองด้วยปาก เช่น การถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไป หรือต้องร้องเป็นระยะเวลานานจึงจะได้ดูดนม เป็นต้น จะทำให้เกิดการติดตรึงกับระยะปาก ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมชดเชยให้กับตนเองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เช่น ติดบุหรี่ การพูดมาก ชอบนินทา รับประทานของจุบจิบ กัดเล็บ เป็นต้น
2) ระยะทวาร (Anal Stage)
   มีช่วงอายุตั้งแต่ 2-3 ปี เป็นระยะที่บริเวณอีโรจีเนียสย้ายไปอยู่บริเวณช่องทวาร เด็กจึงมีความพึงพอใจในการขับถ่าย การฝึกฝนการขับถ่ายควรเป็นไปด้วยความอ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้วิธีการข่มขู่ บังคับ หรือลงโทษเพื่อให้ขับถ่ายตรงเวลา มิฉะนั้นจะเกิดการติดตรึงจนส่งผลถึงบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่น ชอบสะสมของ ตระหนี่ หวงของ ชอบนั่งติดอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน ๆ เจ้าระเบียบ ย้ำคิดย้ำทำเรื่องความสะอาด ต่อต้านระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมใคร เป็นต้น
3) ระยะอวัยวะเพศ (Phallic Stage)
    อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์ให้ความสำคัญมากที่สุด ในระยะนี้ช่วงบริเวณอีโรจีเนียสย้ายบริเวณมาอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเด็กจึงพึงพอใจที่จะสัมผัสอวัยวะเพศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซักถามและให้ความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและดุด่าว่ากล่าวเด็ก รวมทั้งขมขู่จนทำให้เด็กเกิดความกลัวจนถึงขั้นติดตรึงในระยะนี้ จะทำให้เด็กเกิดความแปรปรวนทางเพศในวัยผู้ใหญ่ได้ฟรอยด์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมในระยะนี้อีกด้วยว่า ในระยะนี้เด็กจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปม (Complex) ในจิตใจของเขา ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้สึกผูกพันต่อพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตนเอง โดยเด็กชายจะเกิด ปมออดิปุส (Oedipus Complex) คือเด็กจะเกิดความรู้สึกหวงแม่ รักแม่ และอยากเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงผู้เดียว ในขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่พอใจพ่อ เพราะแม่แสดงความรักความเอาใจใส่ต่อพ่อ เด็กจะเห็นพ่อเป็นคู่แข่ง แต่เมื่อไม่สามารถเอาชนะพ่อได้จึงเลียนแบบพ่อ เพราะเข้าใจว่าการเลียนแบบอย่างจากพ่อจะทำให้แม่รักตนได้ ในทำนองเดียวกันเด็กหญิงจะเกิด ปมอิเล็กตรา (Electra Complex) ซึ่งจะคล้ายกับปมออดิปุสในเด็กชาย แต่จะเปลี่ยนเป็นรักพ่อ และอิจฉาแม่ จนเลียนแบบแม่เพื่อให้พ่อเกิดความรักในตนเองบ้าง แต่เมื่อพ้นระยะอวัยวะเพศไปแล้ว ลักษณะพฤติกรรมของปมทั้งสองนี้จะหายไปเองดังนั้น ช่วงอวัยวะเพศนี้จึงถือว่าเป็นจังหวะสำคัญในการสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก โดยการสร้างบุคลิกภาพของความเป็นชายและหญิงที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาจเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ (Homosexual) ได้ตอนเติบโตขึ้น 
4) ระยะสงบ หรือระยะแฝง (Latency Stage)
   อยู่ช่วงอายุระหว่าง 6-12 ปี ระยะนี้เด็กจะได้รับอิทธิพลทางสังคมและพัฒนาการทางสติปัญญา เป็นระยะของการหาบทบาทที่เหมาะสมให้กับตนเอง เด็กจะสนใจสิ่งแวดล้อมทางสังคมและบทบาททางเพศของตนเอง แต่สามารถสะกดกลั้นความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นไว้ภายในจิตใต้สำนึก โดยเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การเล่นกีฬา การอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนเพศเดียวกัน เป็นต้น
5) ระยะสนใจเพศตรงข้าม หรือระยะวันรุ่น (Genital Stage)
   อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยในระยะนี้ความต้องการทางเพศที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง หากเด็กสามารถผ่านระยะอวัยวะเพศได้อย่างราบรื่น เด็กจะแสดงบทบาทความเป็นเพศที่ตรงกับเพศของตนเอง (Heterosexual) ได้อย่างเหมาะสม ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป

ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของอีริกสัน (Erikson’s Psychosocial Theory) 
อิริก เอช. อีริกสัน (Erik H. Erikson) เป็นลูกศิษย์ที่เคยร่วมงานกับฟรอยด์ ดังนั้นจึงมีส่วนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของฟรอยด์ แต่ต่างกันที่อีริกสันเน้นความสำคัญไปยังปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางจิตใจมากกว่า นอกจากนั้น พัฒนาการของบุคคลมีการเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดไปจนถึงเสียชีวิต ไม่ใช่แค่เพียง 5 ระยะแรกแบบฟรอยด์ ลำดับขั้นแห่งพัฒนาการของอีริกสันจึงแบ่งได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้ 
 Erik H. Erikson ผู้เสนอทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมทั้ง 8 ขั้น
1) ขั้นความไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ (Trust VS Mistrust)
อยู่ในช่วงแรกเกิดถึง 1 ปี อีริกสันให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางสังคมต่อไปเด็กในวัยนี้ต้องได้รับความเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะเกิดความไว้วางใจสังคม เห็นความสำคัญในการพึ่งพากันและกัน แต่หากตรงกันข้าม เด็กจะรู้สึกไม่วางใจสังคม ทางสังคม ในแง่ร้าย หลีกหนีสังคม  
2) ขั้นของความเป็นตัวของตัวเองกับความไม่มั่นใจในตัวเอง (Autonomy VS Doubt)
อยู่ในช่วงอายุ 2-3 ปี เป็นระยะที่กล้ามเนื้อของเด็กแข็งแรงมากขึ้น และอวัยวะต่าง ๆ มีการประสานงานกันดีขึ้น จึงเป็นช่วงระยะที่เด็กแสดงออกทางกิจกรรมหลาย ๆ อย่างให้เห็น พ่อแม่ควรให้อิสระกับเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ให้เด็กช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็ต้องคอยดูแลให้คำแนะนำว่าพฤติกรรมใดที่สังคมยอมรับและไม่ยอมรับ เด็กจะเกิดการกล้าแสดงออกและเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเอง ในทางตรงข้าม หากเด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่ เด็กจะเกิดความลังเล สงสัย ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไป
3) ขั้นความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative VS Guilt)
อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เด็กในวัยนี้สามารถสร้างจินตนาการของตนขึ้นมาได้และมีความคิดริเริ่มเป็นของตนเอง การเล่นของเด็กในวัยนี้จึงมีความสำคัญ เนื่องจากเด็กใช้ของเล่นทั้งหลายแทนจินตนาการ เด็กในวัยนี้ต้องการความมีอิสระโดยไม่ต้องพึงพาผู้ใหญ่ มีการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดตน ซึ่งคล้ายคลึงกับช่วงระยะปม ออดิปุสและปมอิเล็กตราของฟรอยด์ หากพ่อแม่ส่งเสริมการทำกิจกรรมของเด็กและยอมรับผลงานของเด็กแล้ว เด็กจะเกิดความกล้าแสดงออกและความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ซึ่งพ่อและแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย ในทางตรงกันข้ามแล้ว หากเด็กถูกขัดขวางหรือถูกตอกย้ำในความผิดพลาดที่ได้กระลงไป เด็กจะเกิดความรู้สึกผิดและไม่กล้าคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ด้วยตนเอง บุคคลที่มีบทบาทในวัยนี้ได้แก่ บุคคลในครอบครัวและเพื่อนวัยเดียวกัน 
4) ขั้นความขยันหมั่นเพียรกับมีปมด้อย (Industry VS Inferiority)
อยู่ในช่วงอายุ 6-11 ปี การที่อีริกสันใช้คำว่า Industry เพราะในวัยนี้เป็นวัยที่ไม่อยู่นิ่ง มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำสิ่งที่ตนอยากทำ และภูมิใจในความสำเร็จของผลงานที่เกิดจากตนเอง ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรให้กำลังใจและชี้แนะให้เด็กสามารถบรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหวังของเขา เด็กจะเชื่อความเชื่อมั่นในความสามารถของตนและมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ในทางกลับกัน ถ้าขาดผู้ใหญ่คอยแนะนำ หรือมีการตั้งความคาดหวังในตัวเด็กสูงเกินไป เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย เป็นผู้ไร้ความสามารถ จนอาจก่อให้เกิดปมด้อย (Inferiority) ได้ บุคคลที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้แก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ และเพื่อน 
5) ขั้นรู้จักตนเองกับไม่รู้จักตนเอง (Identity VS Role Confusion)
อยู่ในช่วง 12-18 ปี ซึ่งเป็นระยะวัยรุ่น ขั้นนี้ถือว่าเป็นขั้นวิกฤติมากที่สุด เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าไม่สามารถลุล่วงไปด้วยดีจะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพสับสนในตนเอง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่บุคลิกภาพไม่มั่นคงในอนาคต เด็กจะละบทบาทของเด็กและเริ่มเข้าสู่บทบาทผู้ใหญ่ เด็กจะแสวงหาตัวเองเพื่อให้รู้จักตนเองในแง่มุมต่าง ๆ หากเด็กผ่านขั้นนี้ได้ เด็กจะเกิดความจงรักภักดีต่ออุดมคติ กลุ่มบุคคล ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งช่วยในการคลายความสับสนในตนเองจนสามารถผ่านพ้นวิกฤติของวัยนี้ไปด้วยดี 
6) ขั้นความคุ้นเคยผูกพันกับการแยกตนเองหรืออ้างว้าง (Intimacy VS Isolation) 
ระยะนี้อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นวัยที่บุคคลเริ่มรู้จักตนเอง ค้นพบตนเอง รู้จักวางแผนชีวิต และพร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามในฐานะของเพื่อนสนิท ถือว่าเป็นวัยแห่งการแต่งงาน พัฒนาการในด้านนี้เป็นไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในตนเอง และความสำเร็จของการผ่านพัฒนาการในระยะแรก ๆ ถ้าบุคคลสามารถผ่านระยะนี้ได้จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และให้ความนับถือซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานในการสร้างพัฒนาการทางความรัก แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม บุคคลนั้นจะเกิดอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น กลายเป็นคนอ้างว้าง ว้าเหว่ จนกลายเป็นคนรักตนเองและไม่สามารถแสดงความรักต่อผู้อื่นได้ (Nacissism) 
7) ขั้นห่วงชนรุ่นหลังกับคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity VS Stagnation) หรือขั้นความเป็นพ่อแม่กับขั้นความหยุดนิ่ง (Parenta lVS Stagnation) 
ขั้นนี้อยู่ในช่วงผู้ใหญ่ตอนกลางหรือวัยกลางคน เป็นวัยแห่งความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง จะต้องแสดงความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ มีความมุมานะที่จะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิต หากบุคคลประสบความล้มเหลวขากพัฒนาการขั้นต้น ๆ บุคคลจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ เกิดปมด้อย ไม่คิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเอง 
8) ขั้นความรู้สึกมั่นคงทางใจกับท้อแท้สิ้นหวัง (Integrity VS Despair) 
หรือขั้นบุคลิกภาพที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เป็นระยะขั้นปลายของชีวิต ในขั้นนี้จึงเป็นขั้นรวมของพัฒนาที่ผ่านมาทั้ง 7 ขั้น ถ้าบุคคลที่อยู่ในปัจจุบันยอมรับกับตนเองได้ว่าชีวิตที่ผ่านมาตนประสบความสำเร็จและความสุข และสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้เกิดการยอมรับสภาพของตนเองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลมีปัญหาในพัฒนาการที่ผ่านมา และสะสมปัญหาไปจนถึงขั้นที่ 8 จะทำให้รู้สึกไม่พอใจต่อสภาพชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า บุคคลนั้นจะเต็มไปด้วยความผิดหวังและท้อแท้กับปัจจุบัน และไม่ยอมรับกับความตายที่กำลังจะมาถึง 
ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมทั้ง 8 ขั้นของอีริกสันเน้นในเรื่องของความต่อเนื่องในพัฒนาการแต่ละขั้น ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงเสียชีวิต ดังนั้นการที่บุคคลจะแสดงออกในรูปใดนั้น ขึ้นกับความสำเร็จในพัฒนาการแต่ละขั้นว่ามีมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคณะ . (2547). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพ: โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิไลวรรณ ศรีสงคราม และคณะ . (2549). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพ: บริษัท ทริปเพิ้ลกรุ๊ปจำกัด

รายการบล็อกของฉัน