welcome for shared knowledge and experience





วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สุนทรียสนทนา (Dialogue)


วัตถุประสงค์การเรียนการสอน
1. สามารถเข้าใจความหมายของการสนทนาแบบสุนทรียสนทนาได้
2. สามารถปฏิบัติกิจกรรมการสื่อสารแบบสุนทรียสนทนาได้
3.สามารถนำแนวทางในการสื่อสารแบบสุนทรียสนทนาไปใช้ได้
4. สามารถวิเคราะห์การสื่อสารแบบสุนทรียสนทนาได้

สุนทรียสนทนา (Dialogue)
บทสนทนาไม่ใช่การอภิปราย (Discussion) ซึ่งเป็นการโต้ให้เหลือเพียงข้อสรุปหรือความคิดที่ดีที่สุด เพียงอันเดียว ใช้ทักษะการพูดหรือการฟัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร การตีให้แตกก็มักจะตีคนไปด้วยและ ปกป้องตนเอง การสนทนากลายเป็นสมรภูมิทางความคิด ตัวตนก็เต็มไปด้วยเกาะ แต่ Dialogue นำเสนอความ เป็นไปได้ใหม่ โอกาสของการอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกลุ่ม อาศัยกัลยาณมิตรและพื้นที่ปลอดภัย
Dialogue มาจาก ภาษากรีกว่า “Dialogos” โดยคำว่า Logos หมายถึง คำ (The word) หรือความหมายของคำและคำว่า “dia” หมายถึงทะลุปรุโปร่งไม่ได้หมายความว่าสองดังนั้น การ สนทนาจึงสามารถเกิดได้จากการกระทำของคนหลายคนไม่ใช่แค่สองคน บางครั้งแม้มีเพียงคนเดียวก็สามารถ ทำได้ หากแม้เราตั้งใจที่จะฟังเสียงของตนเองที่เปล่งออกมา การสนทนาแบบ Dialogue เป็นการรับฟังวิธีคิด วิธีการให้คุณค่า ความหมายของคนอื่นต่อสิ่งที่พูด เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ละทิ้งสิ่งที่แต่ละคนยึดถือ เพื่อผ่า ข้ามพรมแดนแห่งตัวตนไปพร้อมๆกัน

แนวคิดและหลักการเบื้องต้นของสุนทรียสนทนา
ไอแซคส์พูดถึงในการสนทนา โดยหลักการเน้นความสำคัญ 4 ประการ คือ
1. การพูดคุยกันโดยไม่มีหัวข้อ หรือวาระที่ตายตัวล่วงหน้า ไม่มีประธาน ไม่เหมือนการประชุมอย่างมี เป้าหมายเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน คนในวงสนทนาสามารถพูดอะไรก็ได้ ถามอะไรก็ได้ ส่วนคนอื่นๆ จะตอบ หรือไม่ตอบก็ได้
2. การไม่แทรกแซง ยอมรับความคิดที่เขาพูดแม้ว่าเราไม่เห็นด้วย ซึ่ง ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อ บรรยากาศของความสงบ ปล่อยอารมณ์ให้ผ่อนคลาย พูดเรื่องอะไรก็ได้ ส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการแนะนำและ การตอบคำถาม เพราะคำถามที่เกิดขึ้นเป็นคำตอบในตัวของมันเอง นอกจากนี้ Dialogue ไม่อนุญาตให้มีการ โต้แย้ง หรือสนับสนุน จนเกิดการปะทะกันทางความคิด
3. การฟังให้ได้ยิน โดยไม่พยายามใส่ใจว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของใคร แค่กำหนดใจให้รู้ได้ว่าเสียงที่ได้ ยินคือ เสียงของกัลยาณมิตรของเราคนหนึ่ง ที่ปรารถนาจะได้ยินได้ฟังแต่สิ่งดีๆ
4. เฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาอาจเป็นเสียงของ ตนเอง เสียงของคนในวงสนทนา หรือเสียงจากธรรมชาติ อาจมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้น วาบขึ้นมาในใจ และ ความคิดนั้นอาจถูกนำไปใช้ในการเริ่มต้นของการทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมในอนาคตก็ ได้ หลักปฏิบัติ Dialogue • ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยินมีความเป็นอิสระ และผ่อนคลายทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำ และไม่มีผู้ตาม
5. เคารพ (Respecting) การเคารพ คือการฟังทั้งหมดอย่างไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะที่ชอบหรือไม่ชอบ หากฟังโดยมีปฏิกิริยาให้ น้อยที่สุด โดยหลักการสำคัญของไอแซคส์ที่กล่าวในตอนต้นนั้นก็คือ การพยายามมองสิ่งต่างๆ ว่ามีการถักทอ เป็นผ้าผืนเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด หลักการแห่งการฟังทั้งหมด โดยไม่แยกแยะกลั่นกรองเสียก่อน ก็มาจากทัศนะหรือมุมมองเช่นนี้ ในถ้อยคำของไอแซคส์เอง เขากล่าวว่าการเคารพ ในแง่หนึ่งก็คือการมอง หาสิ่งสูงส่งที่สุด ดีที่สุด ในตัวบุคคลคนหนึ่ง ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างกับว่าเป็นความลี้ลับที่เราไม่มีวันเข้าใจได้โดย ตลอด พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเราและอีกด้าน หนึ่งของความเคารพ ก็คือเรื่องของความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของผู้คน
6. ห้อยแขวน ห้อยแขวนหมายถึงห้อยแขวนทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะห้อยแขวนการตัดสินคน ตัดสินความ เมื่อได้ ฟังคนอื่นพูด ตลอดจนเวลาที่ดำรงตนอยู่ในการสนทนาทั้งหมด เปิดเนื้อที่ให้กับความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด ของความเหลื่อมซ้อนแห่งมุมมอง การมองข้ามพ้นมุมมองอันจำกัดอย่างเป็นอัตโนมัติที่ตนถือครองอยู่ การ ข้ามพ้นคู่ขัดแย้งที่เป็นขั้วทั้งหลาย เป็นอิสระจากการมองเป็นคู่ขัดแย้งทั้งปวง เปิดมุมมองใหม่ที่อาจรวบความ เข้มแข็งในคู่ขัดแย้งเข้ามาไว้ในมุมมองเดียวกัน ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น มันเป็นเรื่องราวของการตื่นขึ้นของ ตัวรู้ด้วย การตื่นขึ้นของสติ ที่ระลึกได้ว่า มีหนทางที่ดีกว่าการกระโดดเข้าไปในการตัดสินคน ตัดสินความ อย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะนั่นคือการถือครองหรือถูกครอง (กันแน่) โดยทัศนคติแบบเดิม มุมมองแบบเดิม ที่ เป็นไปอย่างอัตโนมัติและไม่มีตัวเลือก ไปสู่การเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นไปได้ ทั้งการฟัง ความเคารพและการห้อยแขวนการตัดสิน ทั้งหมดนี้เกี่ยวโยงส่งเสริมกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ ก่อให้เกิด สติ สมาธิ และปัญญา คือการฟังเปิดเนื้อที่ให้กับการเคารพ เพราะเมื่อฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นสติปัญญาและ คุณงามความดีของผู้คนมากขึ้น การเคารพย่อมทำให้การห้อยแขวนเป็นไปได้มากขึ้น การห้อยแขวน เสียงของเรา ในการตั้งวงสนทนาหลายครั้งหลายหน อุปสรรคแรกสุดก็คือการฝ่าข้ามวัฒนธรรมแห่งความเงียบนี้ ออกไป แต่สำหรับไอแซคส์ คนพูดมากก็อาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะเขาเพียงท่องบ่นเรื่องราวใน อดีต เขาไม่ได้ฟังเสียงภายในตัวของเขาเอง เทปม้วนเก่าในหัวของเขาดังกลบเสียงใดๆ ที่ลึกกว่านั้น ที่เขาหรือ เธอจะได้ยิน แต่สำหรับคนที่เงียบงัน เป็นไปได้ที่เมื่อได้ยินเสียงเพรียกจากภายในให้พูด แต่เมื่อเขาหรือเธอ ตัดสินใจที่จะไม่พูด เสียงภายในก็ค่อยๆ แผ่วลงไป จนในที่สุดเราก็อาจลืมเลือนไป หรือมันอาจจะไม่ย่างกราย เข้ามาในสำนึกของเราได้อีกง่ายๆ แต่เมื่อพูดออกไป มันกลับจะพรั่งพรูออกมา เมื่อนั้นเราจะได้สัมผัสถึงพลัง ถ้อยคำของเราเอง เสียงในภาษาตะวันออกกลางโบราณก็คือ abracadabra ซึ่ง abra แปลว่าสร้าง ca แปลว่า as และ dabra แปลว่า speak ซึ่งแปลรวมว่า “I create as I speak” นี่คือปาฏิหาริย์ ถ้อยคำคือพลัง ถ้อยคำสามารถ สร้างโลกได้ ทำอย่างไร? เสียงของเราจึงไม่ใช่เพียงการไปจำเขามาพูด การสนทนาก็คือการเปล่งเสียงของตัวเองออกมา ไม่ใช่เสียงของคนอื่น ไม่ใช่การพูดอะไรแบบใครๆ ก็พูดกัน อย่างนี้เท่านั้น ซึ่งการที่ใครที่เล่นตามเพลงคนอื่น ใครเป็นนักประกาศข่าว ใครเป็นคนที่พูดออกมาเหมือนตำรา อันน่าเบื่อหน่าย และเราจะสัมผัสถึงความสด ความจริงใจแห่งการบอกกล่าวของคนที่พูดจากเสียงของเขาหรือ เธอเอง ที่ให้ความชื่นใจ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสุขหรือเศร้าก็ตาม มีพลังขับเคลื่อนและสร้างโลกที่อยู่รอบๆ ตัวอัน เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ บริโภคนิยมกับการสนทนา
การไถ่ถอนจากอำนาจของบริโภคนิยมมิใช่ทำกันได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะเข้าใจโดยพุทธิปัญญาถึงคุณ และการไถ่โทษของการดำรงชีวิตอยู่ในวิถีแห่งการบริโภค แต่เราก็ไม่สามารถละเลิกการบริโภคต่างๆ และไม่ สามารถสร้างสรรค์ชีวิตอันปลอดพ้นจากการบริโภคได้ อันที่จริงบริโภคนิยมเป็นอาการเสพติดชนิดหนึ่งที่ เป็นแบบทั้งชีวิต ในทุกแง่มุมของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการนำไปสู่การเสพติดยาของ เยาวชนที่อยู่ในโลกของบริโภคนิยมอย่างเต็มตัวให้เป็นไปได้โดยง่ายดาย ซึ่งเมื่อมองในแง่มุมมอง ภาษาและ วัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญา การสนทนาจะเป็นเวทีของการก่อเกิด เมื่อเวทีการสนทนาหายสาบสูญไปหรือ กระพร่องกระแพร่ง ประชาชนคนสามัญก็จะขาดการเข้าร่วมในการก่อเกิด แปรเปลี่ยนและวิวัฒนาภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีกต่อไป หากกลายเป็นผู้ถูกกระทำ

แนวทางการจัดสุนทรียสนทนา
1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของการทำสุนทรียสนทนาให้ทะลุ การคิด ร่วมกันทำให้ความคิดที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆมารวมตัวกัน และทำให้เกิดการเชื่อมโยง (coherent of thought) เพื่อให้เกิดพลังการเข้าใจปรัชญาของสุนทรียสนทนาอย่างลึกซึ้ง จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาใน กระบวนการ สามารถฟันฝ่ากำแพงความลังเลสงสัยไปได้
2. การรื้อถอนสมมุติบัญญัติ ปลดปล่อยตนเองจากภารกิจ บทบาท หน้าที่ อำนาจและอุปาทานที่ห่อหุ้ม ตัวตนอยู่ในทุกรูปแบบ เพื่อมิให้กลายเป็นกำแพงอุปสรรค (blocking) ต่อการเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงความจริงที่ ฝังลึกอยู่ภายในตัวเอง (tacit knowledge) ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมวงสุนทรียสนทนา จึงต้องรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ด้วย ความสมัครใจของตนเอง อ่อนน้อมถ่อมตัว มีเมตตากับตัวเอง โดยการไม่ยกตนข่มท่าน หรือไม่กดตนเองลง จนหมดความสำคัญ แต่ควรกำหนดบทบาทของตัวเองเป็นกัลยาณมิตร กับทุกคน ไม่ควรลืมว่า เป้าหมายของ การรื้อถอนจำกัดขอบเขตอยู่ที่ตนเองเท่านั้ น การก้าวล่วงไปวิพากษ์ วิจารณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงรื้อถอนคนอื่น เป็น สิ่งที่พึงละเว้นโดยเด็ดขาด
3. ในวงสุนทรียสนทนา จะต้องไม่ให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินได้ฟังสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะ โดยทั่วไปขณะที่ฟังนั้ น เรามักจะบิวด์ความรู้สึกบางอย่างตามไปด้ วย เช่ น รำคาญ หมั่นไส้ เคลิบเคลิ้ม ขำ กลิ้ง ชื่นชม ฯลฯ และความรู้สึกเหล่านี้คือที่มาของ ‘bias’ ต้องมันตามให้ทันด้วยการฟังให้ได้ยิน (deep listening) สงบระงับ การตามความรู้สึกให้เท่าทันจึงเป็นการป้องกัน bias และการสงบระงับคือการสร้าง ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เมื่อคิดว่า สามารถจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้แล้ว ก็สามารถเริ่มต้นตั้งวงคุยเพื่อคิด ร่วมกันได้เลย
4. การตั้งวงสุนทรียสนทนา ประกอบด้วยคนสองคนขึ้นไป 7-8 คน ถือว่ากำลังดี แต่ถ้าจำเป็นก็อาจมี ได้ถึง 20 กว่าคน นั่งล้อมวงเป็นวงกลมให้ทุกคนสามารถมองเห็นหน้ากันได้ทั้งหมด ตั้งกติกาการพูดคุยไว้ อย่างหลวมๆ เช่น หลีกเลี่ยงการเสนอแนะ การโต้แย้ง การผูกขาดเวที การทำให้ผู้อื่นเสียหน้า พูดให้สั้น หลังจากพูดแล้ว ควรรอให้คนอื่นๆได้มีโอกาสพูดผ่านไปก่อนสองหรือสามคน ค่อยกลับมาพูดอีก
5. ไม่ควรหวังผลว่าจะต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากจบลงของสุนทรียสนทนา เพราะความคาดหวังดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่มีการยืนยันว่า สุนทรียสนทนาจะเกิดมรรคผลเมื่อเวลา ผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะความคิดไม่ได้หายไปไหน แต่อาจผุดตามหลัง จึงควรทำให้เกิดขึ้นอย่าง สม่ำเสมอ ข้อสำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการสรุปแบบรวบยอด เพราะการสรุป เป็นการเปิดช่องว่างให้ใช้อำนาจ แบบรวบรัด ขยายส่วนที่ชอบ ปิดบังส่วนที่ไม่อยากได้ยิน และข้อสำคัญคือการนำข้อสรุปไปเป็นเครื่องมือบีบ บังคับให้คนอื่นทำตามความต้องการของตนเองในภายหลัง การสรุปควรถือเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่เข้าร่วม กระบวนการสุนทรียสนทนา ซึ่งสามารถหยิบประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ตามความสนใจของแต่ละ คนซึ่งไม่เหมือนกัน

การจัดการวงสนทนาที่ดี แบบ Dialogue
การจัดการวงสนทนา ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่ง อาจารย์ โสฬส ศิริไสย์ ได้แนะนำแนวทางแบบรวบรับ
ภายใต้คำพูดสั้นๆว่า SPEAKING ดังนี้
1. S Setting หมายถึง ฉาก สถานที่ และเวลาของการทำ Dialogue ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็น อันดับต้นๆ กล่าวคือ การจัดสถานที่ ควรจัดให้นั่งเป็นวงกลม ให้ทุกคนในวงสนทนาหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ สามารถมองเห็นหน้า ซึ่งกันและกันได้หมดทุกคน และให้มีพื้นที่ว่างพอที่ให้ทุกคนจะสามารถเคลื่อนไหวไป มาได้สะดวก ถ้าหากมีทิวทัศน์ที่สวยงานที่เป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ มากที่สุด โดยเปิดม่านเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และปลดปล่อยอารมณ์และเป็นที่พักสายตา
 2. P Process หมายถึง กระบวนการ Dialogue เป็นเรื่องของกระบวนการ (Process Determinism) ซึ่ง เป็นไปตามเหตุและปัจจัยไม่สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ผู้เข้าร่วมวงสนทนาต้องมีสติอยู่เสมอ สิ่งที่พูด ไม่มีการสรุปหรือสร้างความคิดรวบยอด เพื่อหาคำตอบสุดท้าย และให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่ถ้า ผู้เข้าร่วมวงเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จะเห็นว่า คำตอบจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเป็นหน้าที่ของ ผู้เข้าร่วมวงที่จะทำความรู้จักกับคำตอบนั้นด้วยตนเอง คำตอบบางอย่างรู้ได้เฉพาะตัว อธิบายให้ใครฟังไม่ได้
3. E Ends หมายถึง เป้าหมาย Dialogue ไม่อนุญาตให้แต่ละคนนำเป้าหมายส่วนตัว หรือวาระส่วนตัว เข้าไปใช้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการฟัง เรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้ผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงมิ ให้มีการตั้งผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า ไม่นำสิ่งที่เชื่ออยู่ในใจออกมาโต้แย้งประหัตประหารซึ่งกันและกัน Dialogue จึงเหมาะสมสำหรับเริ่มต้นทำงานที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่ยากร่วมกัน Dialogue จึงไม่มีการโอ้อวด ไม่แนะนำสั่งสอน หรือหวังจุดประกายให้คนอื่นคิดตาม รวมทั้งไม่โต้แย้ง หรือ ยกยอปอปั้น หรือตำหนิติเตียน
4. A Attitude หมายถึง การมีเจตคติที่ดีต่อคนอื่น มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความสุขที่ได้ยินได้ฟังและได้ เรียนรู้จากผู้อื่น Dialogue คือชุมชนสัมมาทิฐิ ไม่เริ่มต้นด้วยการประณามคนอื่น การเสนอแนะให้คนอื่นทำสิ่ง นั้นสิ่งนี้ หรือการพูดถึงปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การโต้เถียง การปกป้อง และการมุ่งเอาชนะกัน
5. K Key Actor หมายถึง คณะทำงานที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน สร้างฉาก และค้นหาผู้ที่ เหมาะสมจะมานั่งพูดคุยกัน เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรวมความถึง Facilitator ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามหลักการของกระบวนการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที โดย สุภาพและไม่ทำให้ผู้ร่วมวงสนทนารู้สึกเสียหน้า
6. I Instrument หมายถึง เครื่องมือของ Dialogue คือ จะต้องช่วยลดทอนความเป็นทางการของการใช้ ภาษาให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงถ้อยคำแบบพิธีการ เช่น ขออนุญาตพูด เพราะการพูดนี้ไม่ต้องขออนุญาตใคร หาก ผู้พูดคนก่อนพูดจบและมีความเงียบเกิดขึ้นก็สามารถแทรกตนเองขึ้นมาพูดได้โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่จะต้อง ระวังคือพูดสิ่งใดออกไป สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเข้าสู่ตนเอง ทำให้รู้สึกได้ภายหลัง
7. N Norms of Interaction หมายถึงบรรทัดฐานของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ทั้งใน แง่ของคำพูดและการปฏิบัติ กล่าวคือ จะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดและการประทำทางวาจาใดๆที่แสดงว่าตนเอง เหนือกว่า หรือด้อยกว่าคนอื่น วัจนะกรรมที่แสดงความเหนือกว่าได้แก่ คำพูดแบบแนะนำ อบรม สั่งสอน โอ้ อวด ยกตนข่มท่าน ส่วนคำพูดที่แสดงความด้อยกว่าคนอื่น เช่น คำพูดแบบวิงวอนร้องขอ คำแนะนำและความ ช่วยเหลือจากผู้อื่น
8. G Genre หมายถึง ประเภทของการพูดคุย Dialogue ไม่ใช่การพูดคุยแบบพิจารณาถกเถียงหรือโต้แย้ง ไม่ใช้การบรรยายไม่ใช่การประชุมที่มีประธานทำหน้าที่วินิจฉัย สั่งการ หรือมีเป้าหมายวาระไว้ล่วงหน้า แต่ เป็นการพูดคุยแบบเปิด ไม่มีเป้าหมาย และวาระ เพื่อสร้างความหมายร่วมกัน แต่หากเป้าหมายจะเกิดขึ้น ตามมาในภายหลังก็คงไม่มีใครห้าม แต่ต้องเกิดภายใต้บริบทของการสร้างความหมายร่วมกัน

องค์ประกอบการจัดการสนทนาแบบสุนทรียสนทนา
1. ผู้เข้าร่วม อาจเป็นกลุ่มขนาด 10 – 20 คน แต่ขนาดของกลุ่มที่เหมาะสมจะเป็นกลุ่มละ 6 -8 คน ซึ่ง เป็นขนาดที่ทำให้กระบวนการเติบโตขึ้นไปได้ดี
2. หัวข้อ หัวข้อเรื่องของการสนทนาในระยะแระอาจจะกำหนดเป็นหัวข้ออย่างกว้างๆ ซึ่งหัวเรื่องใน การสนทนาเชิงปัญญาแบบ Dialogue นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของทักษะหลักการ 3 ประการใน ตัวบุคคล หัวข้อที่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ย่อมทำให้พัฒนาการไปได้ไม่ไกล ขณะที่หัวข้ออันมี เนื้อหาที่นำพาความคิดขยายไปสู่การรับรู้คุณค่าแห่งประโยชน์ร่วมกัน จะทำให้กระบวนการไปได้ดีกว่า เช่น หัวข้อ
- ประสบการณ์ความสำเร็จ หรือปัญหา-อุปสรรคที่ผ่านมาในการทำงานเป็นทีม
- ความประทับใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน(หัวหน้า-เพื่อน-ลูกน้อง)
- คุณค่าแห่งการทำงานร่วมกัน
- ปรัชญาและค่านิยมของหน่วยงาน
- ปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไขไม่ได้ ในหน่วยงานเรา
3. กติกา เพื่อให้การสนทนาของกลุ่มดำเนินไปสู่ การสนทนาที่เป็นเชิงสติปัญญา อันทำให้เกิดกระแส การไหลของความหมาย กติกาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ กติกาเหล่านั้นได้แก่
- ปิดโทรศัพท์มือถือ
- ไม่มีการพูดคุยย่อยหรือซุบซิบกันเป็นกลุ่ม จะต้องเป็น One meeting เท่านั้น
- “วางหัวโขนตำแหน่งงาน ถือว่าสมาชิกทุคนมีความเท่าเทียมกัน
- สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง และรู้สึกเป็นอิสระ
- ไม่เริ่มโดยมีจุดมุ่งหมายหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นอันใดอันหนึ่ง รวมทั้งไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการ แก้ปัญหาในเรื่องใด
- พูดทีละคน สมาชิกที่เหลือฟังอย่างตั้งใจ และวางกรอบความคิด และการตัดสินในด้านใดใด ไม่ ว่าเรื่องที่พูด ผู้พูด หรือ ลักษณะที่พู ด
- ไม่พูดแทรกขึ้นมา จนกว่าคนที่กำลังพูดอยู่ได้กล่าวจบให้อดทนรอได้ และค่อยๆยกมือขวาขึ้นมาเพื่อ แสดงความต้องการผู้เสนอความคิด เมื่อการพูดก่อนหน้าสิ้นสุดลง
- ไม่ตัดสิน แต่ให้ไตร่ตรองความคิดของตนเองว่ายึดสมสติฐานใดไว้
- ในการพูดนั้นพูดต่อกลุ่มทั้งหมด ไม่เป็นการพูดตรงไปยังคนใดคนหนึ่งเฉพาะ
- รักษาหลักการเปิดพื้นที่โดยไม่ครอบครองการพูดคนเดียว หรือเป็นส่วนใหญ่ ทุกคนจะต้องมี โอกาสได้พูดอย่างเท่าเทียมกันและต้องพูดแสดงความคิดเห็น โดยสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดได้ทุกสิ่งที่ เกี่ยวข้อง
- ไม่ยึดการพูดเอาไว้ ไม่พูดเป็นหลักอยู่คนเดียว อาจจะต้องให้คนอื่นได้พูดคั่นก่อน 2-3 ท่าน ก่อนจะ พูดเพิ่มเติมและการพูดเสนอความคิดในแต่ละครั้งควรใช้เวลาสั้นๆ
- ไม่พูดนอกประเด็น แต่ขยายขอบเขตของเรื่องราวได้
- ไม่มุ่งหาข้อสรุปหรือข้อตกลงในเรื่องใดหรือสิ่งหนึ่งและไม่ตัดสินความคิดเห็นใดใดก็ตาม ว่าเป็น สิ่งที่ ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ใช้ได้หรือไม่ได้และด้านอื่นใดก็ตาม
- ต้องไม่พยายามโน้มน้าวให้คนอื่นคล้อยตามความคิดของเรา
- พูดในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สร้างสรรค์ความสมานสามัคคี และมีไมตรีจิตต่อกัน
- ไม่วิพากษ์คำพูดหรือความคิดของใคร และต้องไม่ใช้คำพูดว่าใช่ แต่ว่า...” แต่ให้ใช้คำพูดว่าใช่ และ....”
- ดำรงอยู่ในความเงียบคือการไตร่ตรองความคิดตนเองกลับไปตั้งคำถามกับสมมติฐานของตนเอง และไม่ปกป้องสมมติฐานของตนเอง โดยการโต้แย้งหรือแสดงอากัปกิริยาขุ่นเคืองใจ
- “ปล่อยวางสมมติฐานและไม่ตัดสิน ทั้งของตนและของผู้อื่น
- แม้ว่า Dialogue ให้ความสำคัญกับการฟังอย่างตั้งใจ อย่างทุ่มสมาธิเข้าไปฟังก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ รักษาดุลยภาพของตัวเราในการฟัง-ไตร่ตรอง-ซักถาม-นำเสนอความคิดจึงต้องมีการแสดงออกทั้ง 3 ประการ
- ไม่นำสิ่งที่กล่าวในวง Dialogue ไปเผยแพร่ขยายวงออกไปภายนอก อย่างมีวัตถุประสงค์ในเชิงลบ หรือก่อเกิดความเสียหายต่อสมาชิก และผู้อื่น
4. ระยะเวลา โดยทั่วไประยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่งโมง เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม การ Dialogue ใน เวลาที่ยาวนานเกินไปอาจก่อให้เกิดความล้า และลดคุณภาพของการสนทนากัน
5.บทบาทผู้นำ ในการ Dialogue ควรดำเนินการไปโดยไม่มีผู้นำ โดยถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เราจะไม่นำเอาตำแหน่งหน้าที่การงานหรือสิ่งอื่นๆที่แสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่าเข้ามาในวง Dialogue
6.การจัดสถานที่ Dialogue ให้ความสำคัญต่อการจัดสถานที่ค่อนข้างสูง ปัจจัยนี้มีผลอย่างมากต่อ พัฒนาการของ Dialogue หากเป็นไปได้สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาการ Dialogue ควรจะ
- เงียบ สะดวกสบาย
- โปร่งโล่ง ไม่แออัด การอยู่ในห้องขนาดเล็กที่อาจทำให้เกิดความอึดอัด ทำให้การคิดร่วมกันเป็นไป ได้ยากขึ้น
- เงียบ ไม่มีผู้คนจอแจ ไม่เป็นสถานที่มีคนเดินกวักไกว พลุกพล่านไม่มีเสียงระงมจากรถยนต์ หรือ เสียงโทรศัพท์ดังเป็นระยะ หรือเสียงรบกวนอันใด
- ปลอดจากแมลงและสิ่งรบกวนอื่นๆ เช่น แสงที่สว่างจ้าเกินไป หรือลมที่พัดแรงให้รู้สึกหนาวเย็น หรือแสงที่น้อยเกินไปก็อาจทำให้ง่วงได้
- อยู่ในห้องที่มีอากาศไหลหมุนเวียนพอประมาณ หรือมีการระบายอากาศที่ดี




เอกสารอ้างอิง
มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร. (2552). Dialogue สุนทรียสนทนา : ศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์สติปัญญาร่วม
กันของมนุษย์. กรุงเทพฯ : โมโนธีม คอนซัลติ้ง.
มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร. (2553). Dialogue สุนทรียสนทนา ฉบับนักปฏิบัติ.กรุงเทพฯ : โมโนธีม คอนซัลติ้ง. วิศิษฐ์ วังวิญญู. (มปพ). สุนทรียสนทนา. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีนา.
David Bohm. (2554). DAVID BOHM ON DIALOGUE: ว่าด้วยสุนทรียสนทนา. แปลโดย
เพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข.สำนักพิมพ์ : สวนเงินมีนา, กรุงเทพฯ.
http://www.earth-soul.com/home/index.php?option=com_content&task=view&id=149&Itemid=18
http://www.lms.cmru.ac.th/web52/e-book/_12.thml
http://mx.kkpho.go.th/healthedkkh/Dialogue.htm
http://www.ns.mahidol.ac.th/english/KM/article003.htm
http://www.palung.com/board/showthread.php?T=8907

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน