welcome for shared knowledge and experience





วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โภชนศาสตร์สุขภาพ

อาหารสำหรับบุคคลในวัยต่างๆ
โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
(Nutrition for pregnant and lactating women)
วัตถุประสงค์ นักศึกษาสามารถ
1.       อธิบายอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะตั้งครรภ์ และให้คำปรึกษาการบริโภคอาหารที่เหมาะสมได้
2.       ประเมินการเพิ่มของน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และ ภาวะโภชนาการในระยะตั้งครรภ์ได้
3.       ประเมินภาวะแทรกซ้อนจากปัจจัยด้านโภชนาการในระยะตั้งครรภ์ และให้คำปรึกษาการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้
4.       บอกชนิดและปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพิ่มขึ้นในระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้
5.       วางแผนการบริโภคอาหารให้เพียงพอตามที่กำหนดในระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้
      โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์
(Nutrition for pregnant   women)
            การตั้งครรภ์เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ ไม่ใช่การเจ็บป่วย มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายหลายอย่างรวมทั้งเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้มีความต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ในระยะนี้หากหญิงมีครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จะมีผลเสียต่อทั้งแม่และลูกเป็นอย่างมาก คือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดสูง ทำให้น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยกว่า 2500 กรัม และปริมาณน้ำนมที่ต้องเลี้ยงลูกอาจจะไม่พอ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงนั้นจำเป็นที่ทารกต้องได้สารอาหารที่เพียงพอตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 
โภชนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์   (Nutrition and fetal growth)
            โภชนาการมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และจาการการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า  การทำให้หนูขาดสารอาหารตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหย่านม หนูจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ ถึงแม้ว่าจะให้สารอาหารที่ครบถ้วนแล้วหนูยังมีขนาดเล็กกว่าปกติ   ระยะต่อมาหากให้สารอาหารที่ครบถ้วนต่อไป หนูสามารถมีขนาดโตเท่าปกติได้  ซึ่งอธิบายได้ว่าช่วงอายุของการขาดสารอาหารมีผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในครรภ์และวัยทารก
              การขาดสารอาหารในทารกในครรภ์มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเนื่องจากเซลล์สมองจะหยุดแบ่งตัว หลัง 12- 18 เดือน ดังนั้นในเด็กขวบปีแรกหากมีการขาดสารอาหารจะทำให้สมองเติบโตช้า มีขนาดเล็กกว่าปกติ อย่างไรก็ตามหากการขาดสารอาหารอยู่ในระยะที่เซลล์ยังแบ่งตัวได้และได้รับสารอาหารทดแทนทันก็จะสามารถทำให้สมองเจริญเติบโตเท่ากับคนปกติ
            เมื่อตั้งครรภ์ 2 อาทิตย์แรก ไข่ที่ผสมแล้วจะฝังตัวที่เยื่อบุมดลูก และมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีการสร้างรกขึ้น  ประมาณ 2 – 8 อาทิตย์ทารกจะมีการสร้างอวัยวะที่สำคัญเช่น  หัวใจ  ไต  ปอด  ตับ และกระดูก จากการทดลองในสัตว์พบว่า หากระยะนี้ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะทุพโภชนาการ จะเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ (Congenital Malformation)
การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระและการครองธาตุในหญิงตั้งครรภ์
 (Physiological and Metabolic  Change in pregnancy)
            การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระ และการครองธาตุที่สำคัญจะเกิดขึ้นอย่างมากช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่
ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้
1.       การเพิ่มของปริมาณน้ำเลือด   ร้อยละ 50   โดยมีการเพิ่มระดับฮีโมโกลบินร้อยละ 20  โดยการเพิ่มนี้จะสูงสุดในระยะกลางไตรมาส 3 จนกระทั่งคลอด   การเพิ่มของน้ำเลือดที่มากขึ้นมีผลทำให้ระดับฮีโมโกลบิน และอัลบูมินในเลือดลง  ทำให้ Colloid osmotic pressure ลดลง ส่งผลให้ของเหลวระหว่างเซลล์เพิ่มขึ้นมารดาจะมีอาการบวม
2.       การเพิ่มระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน รวมทั้งฮอร์โมนที่สร้างมาจากรก   มีผลทำให้ไนโตรเจนสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นเพิ่มการสะสมของกลัยโคเจนและไขมัน  โดยเฉพาะไขมันจะเพิ่มประมาณ 3-4 กิโลกรัม ระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น รวมถึงวิตามินที่ละลายในไขมันด้วย
3.       ระดับอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้น  ความทนต่ออินซูลินของเนื้อเยื่อ (Insulin resistance)เพิ่มขึ้นส่งผลให้
เกิดความผิดปกติของ Glucose tolerance test เพิ่มขึ้น
4.       การคลื่นไส้อาเจียน เป็นอาการที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเรียกง่ายๆ ว่า การแพ้ท้อง ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ถ้าเป็นอยู่หลายวันควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้   และการแพ้ท้องสัมพันธ์กับสภาพจิตใจด้วย หญิงตั้งครรภ์มักต้องการความสนใจจากบุคคลใกล้ชิดด้วยเช่นกัน อาการแพ้ท้องอาจจะช่วยให้ทุเลาโดยรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือการกินอาหารอ่อนย่อยง่าย น้อยๆแต่บ่อยครั้ง ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด ไขมันสูง
5.       การเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหาร เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนทำให้ลำไส้บีบตัวช้าลง น้ำย่อยในกระเพาะอาหารหลั่งน้อยลง ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด และคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย บางครั้งเกิดกรดไหลย้อน ทำให้เกิดอาการแสบยอดอก (Heartburn) และในระยะ 2-3 เดือนก่อนคลอด มักมีอาการท้องผูก เพราะขนาดครรภ์โตขึ้นและไปกดทับลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อย รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์มักรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำและรับประทานผลไม้ให้มากขึ้น  พร้อมกับออกกำลังกายเบาๆ
6.       น้ำหนักเพิ่มขึ้น  ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์น้ำหนักจะเพิ่มน้อยมาก ประมาณ 1-2 กิโลกรัม เพราะทารกเจริญเติบโตช้ามาก  หลังจาก เดือนแล้วน้ำหนักจะค่อยๆเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มเร็วที่สุด 3 เดือนก่อนคลอด อาจเพิ่มขึ้น 0.5 กิดลกรัม ต่อ สัปดาห์รวมตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 12.5 กิโลกรัม และไม่ควรน้อยกว่า 7  กิโลกรัม หรือเกิน 13  กิโลกรัม 




       น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนต่างๆ ของมารดาและทารก ดังนี้
       ทารก     3,335    กรัม
      มดลูก      890      กรัม
      รก         670       กรัม
      น้ำคร่ำ    790       กรัม
      เลือด      1,340    กรัม
     ของเหลวในร่างกาย            890      กรัม
     เต้านม    450       กรัม
     ไขมัน     4,020    กรัม
     น้ำหนักทั้งหมด      12,485 กรัม (ประมาณ 12.5 กิโลกรัม)
เกณฑ์การเพิ่มของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ (General Targets of appropriate weight gain)
            เกณฑ์การเพิ่มของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์    แบ่งเป็น 5 ระดับ
1.       สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอ้วน คือมีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์เกินร้อยละ 120 ของน้ำหนักตัวมาตรฐาน ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ 7-8 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 300 กรัมต่อสัปดาห์
2.       สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเกิน  คือมีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์อยู่ระหว่างร้อยละ 110-119 ของน้ำหนักตัวมาตรฐานควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ 10 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 350 กรัมต่อสัปดาห์
3.       สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวปกติและวางแผนให้นมบุตรหลังคลอด คือมีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ระหว่างร้อยละ 90-109 ของน้ำหนักตัวมาตรฐาน)  ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ 12 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 400 กรัมต่อสัปดาห์ ในระยะ ไตรมาสที่2 และ 3
4.       สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นวัยรุ่น  (อายุ <18 ปี) หรือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าร้อยละ 90 ของน้ำหนักมาตรฐาน ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ 14- 15 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์
5.       สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีลูกแฝด ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ 18 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 650 กรัมต่อสัปดาห์ ในระยะ 20 สัปดาห์ก่อนคลอด
การประเมินภาวะโภชนาการทางห้องปฏิบัติการในหญิงตั้งครรภ์
              เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงมากจึงมีค่าทางห้องปฏิบัติการที่ใช้เป็นพื้นฐานในการประเมินภาวะโภชนาการตลอดการตั้งครรภ์ได้
ความต้องการด้านโภชนาการในระยะมีครรภ์ (Nutritional requirements in pregnancy)
1.       สารอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่คาร์โบไฮเดรต  ไขมันและโปรตีน ซึ่งตลอดช่วงการมีครรภ์ หญิงมีครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่ม 80,000 กิโลแคลลอรี่ หรือประมาณวันละ 300 กิโลแคลลอรี่ / วัน  องค์การอนามัยโลกได้เสนอแนะให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับพลังงานเพิ่มวันละ 250 กิโลแคลลอรี่ และอาจลดลงเหลือวันละ 200 กิโลแคลลอรี่ ในหญิงตั้งครรภ์ที่ทำกิจกรรมลดลง  น้ำหนักหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก   ควรเพิ่ม 1-2 กิโลกรัม และในช่วงต่อไปควรเพิ่ม 0.4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ กองโภชนาการ กรมอนามัยกำหนดให้หญิงในอายุ 20 ปี ขึ้นไปได้รับพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลลอรี่  ดังนั้นหญิงมีครรภ์ควรได้รับพลังงานวันละ 2,300 กิโลแคลลอรี่  จึงจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตทารกในครรภ์   สารอาหารที่ให้พลังงาน จากคาร์โบไฮเดรต  ไขมันและโปรตีน  ซึ่งได้จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว  บะหมี่ และอาหารแป้งชนิดอื่น ๆ ถั่วต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงขนมหวานจัด เพราะจะทำให้ได้รับแต่พลังงานแต่ขาดคุณภาพ
2.       โปรตีน  หญิงมีครรภ์จำเป็นต้องได้รับโปรตีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งของทารกและตัวมารดาเอง  โปรตีนในทารกจะมีประมาณ 500 กรัมหรือครึ่งหนึ่งของโปรตีนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดขณะตั้งครรภ์ ส่วนอีก 500 กรัมจะอยู่ในเลือดของมารดาในรูปของฮีโมโกลบินและ พลาสม่าโปรตีน ความต้องการของโปรตีนจะสูงสุดที่ระยะ 3 เดือน  ก่อนคลอดเพราะเป็นระยะที่ทารกเจริญเติบโตเร็วมาก จึงต้องการโปรตีนในการสร้างเนื้อเยื่อ  โดยเฉพาะ เดือนก่อนคลอด – 6 เดือนหลังคลอด ระยะนี้เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตเร็วสุด ถ้ามารดาได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้ทารกมีเซลล์สมองน้อย มีผลต่อสติปัญญาของเด็ก เรียนรู้ช้า  สติปัญญาด้อย  สภาวิจัยอาหารและโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้หญิงมีครรภ์กินอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ 10-14 กรัม/ วัน
3.       แคลเซี่ยม  หญิงมีครรภ์ต้องการเพิ่มขึ้นในการสร้างกระดูกและฟันของทารก รวมทั้งสะสมไว้ในระยะให้นมบุตรอีกด้วย หญิงมีครรภ์ควรได้รับแคลเซี่ยม  วันละ 1,200 มิลลิกรัม จากปกติที่ควรจะได้รับ 800 มิลลิกรัม จากการศึกษาพบว่า การให้แคลเซี่ยมเสริมวันละ 1,200 มิลลิกรัมจะช่วยลดระดับความดันโลหิตและการเกิดภาวะ Preeclampsia
4.       เหล็ก หญิงมีครรภ์ต้องการ เหล็กเพื่อใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง  กองโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำให้หิงตั้งครรภ์ได้รับเหล็กวันละ 45 มิลลิกรัม   ในประเทศไทยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ขาดธาตุเหล็กทำให้โลหิตจางร้อยละ 20-40 ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดได้ง่ายเพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
5.       ไอโอดีน ในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อมไทรอยด์ของมารดาจะทำงานหนักมากขึ้นทำให้ความต้องการไอโอดีนมากขึ้น เพราะไอโอดีนเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทร็อกซีน หากมารดาขาดไอโอดีนจะทำให้เป็นโรคคอพอกและถ้าแม่ขาดรุนแรงจะทำให้ทารกขาดด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายทำให้ทารกที่เกิดมาตัวเล็กแกร็นและมีสติปัญญาต่ำ (Cretinism)  ดังนั้นหญิงมีครรภ์ควรได้รับไอโอดีนวันละ 175  ไมโครกรัม
6.       โฟเลท  กองโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับโฟเลทวันละ 500 ไมโครกรัม เพิ่มจากปกติ ที่ได้รับ 150 ไมโครกรัม  ซึ่งโฟเลทมีบทบาทสำคัญ คือเป็นโคเอนไซม์ในกาสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก ดังนั้นการขาดโฟเลทอาจทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ และการแบ่งเซลล์บกพร่อง จากการศึกษาพอสรุปได้ว่า หากได้รับดฟเลทเสริมจะช่วยลดอุบัติการณ์ความผิดปกติของ Neural tube เช่น Hydrocepharus , spina bifida และ anencephaly
7.       วิตามิน บี6   กองโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามิน บี6   เพิ่มจาก 0.6 มิลลิกรัมเป็น 2.6 มิลลิกรัม ซึ่งจะสามารลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง ลดความซึมเศร้าได้
8.       วิตามิน ซี ในหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินซีเพิ่มอีกวันละ 20 มก. รวมทั้งหมดเป็นวันละ 80 มก. จากผลการศึกษาพบว่าการขาดวิตามินซี สัมพันธ์กับการเกิดภาวะพิษแห่งครรภ์ และน้ำเดินก่อนกำหนด
9.       วิตามิน เอ  หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินเอเพิ่มไม่เกินวันละ 800 ไมโครกรัม RE ไม่ควรได้รับมากเกินไปและไม่ควรเสริมก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าขาดวิตามิน ในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพราะมีผลให้ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิดได้  (Teratogenicity)
10.    วิตามิน ดี  มีความสมดุลต่อแคลเซียมในระยะตั้งครรภ์  และต้องการวิตามิน ดี เพิ่มวันละ  5 มก. รวมเป็นวันละ 10 มก.
 ปัจจัยด้านโภชนาการอื่นๆ ที่มีผลต่อการตั้งครรภ์
1.       แอลกอฮอล์  มารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ที่เรียกว่า fetal alcoholic syndrome  ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้ประกอบด้วยการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และหลังคลอดช้า พัฒนาการช้า สมองเล็ก มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของตา ใบหน้า และกระดูกข้อต่อต่างๆ
2.       คาเฟอีน หญิงตั้งครรภ์มักบริโภคคาเฟอีนในรูปแบบอาหารต่างๆ คือชา กาแฟ น้ำอัดลม ชอคโกแลต  ซึ่งคาเฟอีนสามารถส่งผ่านทางรกได้แต่ทารกไม่สามารถสลายคาเฟอีนได้ อาจจะมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจของทารกผิดปกติได้

แนวทางการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์  (Guide for eating during pregnancy)
1.       เนื้อสัตว์ต่าง ๆ  ได้รับจากเนื้อ หมู ปลา กุ้ง หอย ไก่ หรือ เป็ด วันละประมาณ 120-180 กรัม หรือประมาณ ½ -3/4 ถ้วยตวงหรือมื้อละ 3 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 มื้อ
2.       นม  ควรดื่มนมไขมันต่ำวันละ 1-2แก้ว  เพราะนมเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดี มีแคลเซี่ยมที่ร่างกายดูดซึมได้ดี
3.       ไข่ ควรกินไข่วันละ 1 ฟองเป็นประจำ
4.       ผลไม้ ควรกินทุกวัน  วันละ 2-4 ครั้ง เพราะจะได้รับวิตามินและเกลือแร่ครบ ผลไม้ที่ควรกินเป็นประจำได้แก่
5.       ผักชนิดต่างๆ ควรกินผักใบเขียวทุกวันในปริมาณไม่จำกัด นอกจากวิตามินเกลือแร่จะครบแล้วยังช้วยให้ท้องไม่ผูก
6.       ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่นถั่วเขียว  ถั่วเหลือง  ถั่วแดง เพื่อเพิ่มโปตีน
7.       ไขมันหรือน้ำมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ควรบริโภคระดับปานกลาง
8.       น้ำ ควรดื่มวันละ 2,000 ซีซี




ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน