welcome for shared knowledge and experience





วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แนวคิดหลักการและวิธีการสื่อสาร


 
เอกสารประกอบการเรียน วิชา 503 101     การสื่อสารและสารสนเทศทางการพยาบาล
แนวคิดหลักการและวิธีการสื่อสาร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
1. นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจแนวคิดและหลักการการสื่อสาร
2. นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจทฤษฏีและแบบจำลองการสื่อสาร 

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. นักศึกษาสามารถอธิบายความหมายการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
2. นักศึกษาสามารถอธิบายความสำคัญของการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
3. นักศึกษาสามารถอธิบายองค์ประกอบการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง 

บทนำ
 
               ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้วที่มนุษย์จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการสื่อสารตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์เราไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพังโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นได้ เช่นในสมัยก่อนการติดต่อสื่อสารหรือสื่อความหมาย จะใช้อาณัติสัญญาณต่าง ๆ อาทิ เสียงกลอง ควันไฟ ฯลฯ ต่อมามนุษย์รู้จักการขีดเขียนภาพบนผนังถ้ำก็มีการสื่อความหมายโดยการเขียนภาพไว้ตามผนังถ้ำต่าง ๆ เช่น ภาพครอบครัว ภาพการล่าสัตว์ และต่อมามนุษย์มีการประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษรขึ้นมาใช้ การติดต่อสื่อสารหรือสื่อความหมาย ก็ใช้ในลักษณะการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งลักษณะหลังนี้ ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น คือ จากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง หรือจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่ยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง กระทั่งปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางการสื่อสารได้พัฒนาไปเป็นอย่างมาก จึงทำให้การติดต่อสื่อสารของมนุษย์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และกว้างขวาง ตลอดจนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนถึงขั้นที่อาจจะกล่าวได้ว่า สังคมเราทุกวันนี้เป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร (Information Society) นั่นก็คือ ข่าวสารต่าง ๆ เข้ามามีส่วนสำคัญหรือมีบทบาทในการดำรงชีวิตของมนุษย์เกือบทุกรูปแบบ เช่น ในวันหนึ่ง ๆ ทุกคนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสื่อสารโดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างบุคคลไม่มากก็น้อย เพราะตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งถึงเข้านอน เราจะต้องพบปะเจอะเจอกับผู้คนมากมาย ตั้งแต่คนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง ตลอดไปจนถึงคนที่เรามีความสนิทสนมอย่างผิวเผิน หรือ คนที่ไม่มีความสนิทสนมกันเลย แต่เราจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารด้วยแต่การสื่อสารระหว่างบุคคลนี้มิได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นการสื่อระหว่างบุคคลสองคน หรือมากกว่านั้น โดยการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบของการพูดเท่านั้น แต่เรายังสามารถทำการปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบของภาษาท่าทางได้ เช่น เพื่อนร่วมงานสองคนที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่ไม่คุ้นเคยกันมากนัก เมื่อมีโอกาสได้พบหน้ากัน ต่างก็ทักทายด้วยการยิ้มให้แก่กัน โดยไม่มีการกล่าววาจาทักทายกันเลยก็ได้ แต่การกระทำดังกล่าวก็ถือว่ามีการติดต่อสื่อสารกันแล้ว เพียงแต่เป็นการสื่อสารในรูปแบบอวัจนภาษา คือ ไม่มีการกล่าวคำพูดทักทายกัน อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่าการสื่อสารประเภทใดจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากันระหว่างการสื่อ-สารในรูปแบบการใช้ภาษาพูด ภาษาเขียน (วัจนภาษา) กับการสื่อสารในรูปแบบของการใช้ภาษาท่าทาง (อวัจนภาษา) แต่ในหลักการสื่อสารมีข้อที่น่าพิจารณาอยู่ว่า ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงวัจนภาษา หรือเชิงอวัจนภาษาก็ตาม การสื่อสารจะต้องให้เป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารเป็นเรื่องสำคัญ

ความหมายของการสื่อสาร
               "การสื่อสาร" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Communication" ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายไว้ต่าง ๆ กัน ดังนี้
               จอร์จ เอ มิลเลอร์ (George A. Miller) กล่าวว่า "การสื่อสาร หมายถึง การถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง"
               คาร์ลไอ โฮฟแลนด์ (Carl I. Hoveland) และคณะให้ความเห็นว่า"การสื่อสาร คือกระบวนการที่บุคคลหนึ่ง (ผู้ส่งสาร) ส่งสิ่งเร้า (โดยปกติจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน) เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลอื่น ๆ (ผู้รับสาร)
               วอร์เรน ดับเบิลยู วีเวอร์ (Warren W. Weaver) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการสื่อสารว่า "การสื่อสารมีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงกระบวนการทุกอย่างที่จิตใจของคน ๆ หนึ่ง อาจมีผลต่อจิตใจของคนอีกคนหนึ่ง การสื่อสารจึงไม่หมายความแต่เพียงการเขียนและการพูดเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงดนตรี ภาพ การแสดงบัลเล่ต์ และพฤติกรรมทุกพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วย"
               เจอร์เกน รอยซ์ และเกรกอรี เบทสัน (Jurgen Ruesch and Gregory Bateson) ให้ความเห็นว่า "การสื่อสารไม่ได้หมายถึงการถ่ายทอดสารด้วยภาษาพูดและภาษาเขียนที่ชัดแจ้งและแสดงเจตนารมณ์เท่านั้น แต่การสื่อสารยังรวมไปถึงกระบวนการทั้งหลายที่คนมีอิทธิพลต่อกันด้วย ซึ่งคำนิยามนี้ยึดหลักที่ว่าการกระทำและเหตุการณ์ทั้งหลาย มีลักษณะเป็นการสื่อสาร หากมีผู้เข้าใจการกระทำและเหตุการณ์เหล่านั้น นั่นก็หมายความว่าความเข้าใจที่เกิดขึ้นแก่คน ๆ หนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงข่าวสารที่คน ๆ นั้นมีอยู่และมีอิทธิพลต่อบุคคลผู้นั้น"
               วิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilbur Schramm) อธิบายว่า "การสื่อสารคือการมีความเข้าใจร่วมกันต่อเครื่องหมายที่แสดงข่าวสาร (information signs)
               ชาร์ลส์ อี ออสกูด (Charles E. Osgood) กล่าวว่า "ความหมายโดยทั่วไป การสื่อสารจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ส่งสาร มีอิทธิพลต่ออีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้รับสาร โดยใช้สัญญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งถูกส่งผ่านสื่อที่เชื่อมระหว่างสองฝ่าย"
               เอเวอเร็ต เอ็ม โรเจอร์ส และเอฟ ฟลอยด์ ชูเมคเกอร์ (Everett M.Rogers and F. Floyd Shoemaker) ให้ความหมายว่า "การสื่อสาร คือ กระบวนการซึ่งสารถูกส่งจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร"
               บางท่านก็ว่า "การสื่อสาร" คือ การมีส่วนร่วมในข่าวสารร่วมกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ส่วนจอร์จ เกิร์บเนอร์ ให้ความหมายของการสื่อสารไว้ว่า "การสื่อสาร คือกระบวนการที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีปฏิสัมพันธ์กันในสภาพแวดล้อมทางสังคมเฉพาะ"
               จากความหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ความหมายเหล่านี้มีร่วมกันก็คือ การสื่อสารของมนุษย์ตั้งแต่อยู่บนหลักของความสัมพันธ์ (relationship) กล่าวคือในการสื่อสารนั้นจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร และอีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับสาร ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเกี่ยวกันหรือสัมพันธ์กัน
               โดยสรุป "การสื่อสาร คือ กระบวนการของการถ่ายทอดสาร (message) จากบุคคลฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้ส่งสาร (source) ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้รับสาร(receiver) โดยผ่านสื่อ (channel)" แต่ถ้าหากเรามามองกันในอีกมุมมองหนึ่ง ที่มองว่าการสื่อสารระหว่างมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงการส่งสารเพื่อก่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสารตามความหมายที่มักใช้กันอยู่โดยทั่วไปเท่านั้น แต่การสื่อสารยังหมายความรวมไปถึงการรับสาร ปฏิกิริยาตอบกลับ หรือ feedback นอกจากนั้นก็ยังรวมถึงอันตรกิริยา หรือปฏิกิริยาที่มีต่อกันระหว่างผู้สื่อสารทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ส่งสารและฝ่ายผู้รับสาร ปฏิกิริยาที่มีต่อกันนี้เรียกว่า Interaction ปฏิกิริยาที่มีต่อกันนี้จะเป็นตัวนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องของความหมาย (meaning) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นการสื่อสารในความหมายนี้จึงนับเป็นกระบวนการ 2 วิถี หรือ Two - way Communication อยู่ในตัวของมันเอง เสมือนหนึ่งเป็นวงจรของความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความหมายที่มีอยู่ในสมองของบุคคลที่สื่อสารกัน (ติดต่อกัน) วงจรอันนี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงวงจรเดียวก็ได้ ถ้าหากบุคคลที่ทำการสื่อสารกันนั้นมีความสนิทสนมชิดเชื้อกันมาก รู้ใจซึ่งกันและกัน หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างใกล้ชิด เช่น สามี - ภรรยา พ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท คู่รัก บุคคล เหล่านี้เวลาหรือหอมแก้ม ช. 1 ฟอด แสดงความขอบคุณ อันนี้วงจรก็จะเกิดขึ้นเพียงวงจรเดียว (ซึ่งกรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นบ่อยจน น. ไม่ต้องถามกลับแล้วก็ได้ว่าทำไม) แต่ถ้าหาก น. โต้ตอบกลับไปด้วยคำพูดที่ว่า "เนื่องในโอกาสพิเศษอะไรหรือพี่" ก็จะทำให้มีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความหมายที่มีอยู่ในสมองของบุคคล 2 คนแล้ว กลายเป็นวงจร 2 วงจรเกิดขึ้น โดย ช. อาจจะตอบกลับว่า "วันนี้พี่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ เราไปฉลองกันเถอะ"ทำการสื่อสารกัน วงจรของการแลกเปลี่ยนความหมายที่มีอยู่ในสมองอาจจะเกิดขึ้นเพียงวงจรเดียว เช่น ช. กับ น. เป็นสามีภรรยากัน อยู่มาวันหนึ่งตอนเย็น ช. ก็พูดกับ น. ว่า "วันนี้ออกไปกินข้าวนอกบ้านกันเถอะ" ซึ่ง น. ก็สามารถแปลความหมายได้ทันทีและอาจตอบกลับไปอย่างรวดเร็วว่า "ดีจังเลยพี่" หรือ น. อาจจะไม่พูดแต่ใช้อากัปกิริยาตอบกลับไป เช่น ส่งสายตาเป็นทำนองดีใจและขอบคุณ
ความสำคัญของการสื่อสาร
               ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การสื่อสารมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการมีปฏิกิริยาของมนุษย์ มนุษย์เราจึงศึกษาว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อมีการกระทำทางการสื่อสาร หรือในกระบวนการสื่อสารมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ในองค์ประกอบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ดังนั้นทฤษฎีจะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจให้แจ่มชัดขึ้น
               โดยสรุปการสื่อสารนั้นจัดได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ นอกเหนือจากปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัยเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค แม้ว่าการสื่อสารจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นความตายของมนุษย์เหมือนกับปัจจัยสี่ แต่การที่จะให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่เหล่านั้น ย่อมต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมืออย่างแน่นอน มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของตน และเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมการสื่อสารเป็นพื้นฐานของการติดต่อของมนุษย์ และเป็นเครื่องมือสำคัญของกระบวนการสังคม ยิ่งสังคมมีความสลับซับซ้อนมาก และประกอบด้วยคนจำนวนมากขึ้นเท่าใด การสื่อสารก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและสังคม จะนำมาซึ่งความสลับซับซ้อน หรือความสับสนต่าง ๆ จนอาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและไม่แน่ใจแก่สมาชิกของสังคม ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหากจะพิจารณาถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีต่อมนุษย์แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประการคือ
               1. ความสำคัญต่อความเป็นสังคม การที่มนุษย์อยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม ตั้งแต่สังคมระดับเล็กคือ ครอบครัว ชุมชนเผ่าพันธุ์ ไปจนถึงการรวมตัวเป็นสังคมขนาดใหญ่ในระดับประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นพื้นฐาน เพราะการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจ และทำความตกลงกันได้ มีการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างระเบียบของสังคมให้เป็นที่ยอมรับระหว่างสมาชิก ทั้งนี้เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเป็นสังคม กล่าวคือ การมีสังคมมนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสาร สังคมมนุษย์เกิดจากการใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการจะรวมคนหลาย ๆ คนให้มาอยู่รวมกัน
               2. ความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าตลอดเวลาที่เราตื่น เราจะทำการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารกลุ่มใหญ่ การสื่อสารด้วยคำพูด การสื่อสารด้วยตัวหนังสือ การสื่อสารด้วยกิริยาท่าทางและการสื่อสารมวลชนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำประจำวันนั้น มีการสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งเวลาเรานอนหลับอยู่ หากเราฝันหรือละเมอเรื่องใดก็ตามนั่นก็ถือว่าเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งคือ การสื่อสารภายในตัวบุคคล(Intrapersonal Communication)

               3. ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรม มีการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานทำให้ต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นทั้งองค์กรหรือสถาบันที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชนในทางตรงข้ามลูกจ้างของสถาบันเองก็จะมีการรวมตัวกันเป็นองค์การในรูปของสหภาพแรงงาน เพื่อให้มีพลังต่อรองแสดงความต้องการของตนและชี้ข้อบกพร่องของฝ่ายบริหาร นอกจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมยังเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกฝ่ายต่าง ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงาน ผู้บริโภคสินค้า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ฯลฯ ฉะนั้น การดำเนินงานหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลเหล่านี้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่องค์กรต้องการก็คือ ความสนับสนุนและความร่วมมือจากบุคคลเหล่านั้น โดยองค์กรจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้ ด้วยการใช้วิธีกิจการด้านสื่อสารที่เรียกว่า "การประชาสัมพันธ์" (Public relations) ในการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และยังสามารถตรวจสอบประชามติหรือความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อองค์กรด้วย
               4. ความสำคัญต่อการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดหรือการปกครองระดับใด คือตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ย่อมจะมีทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองหรือประชาชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการปกครองของรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจ จะได้เกิดความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบายตลอดจนกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ นอกจากการเผยแพร่ข่าวสารแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องรับทราบความรู้สึกนึกคิด ความต้องการหรือประชามติของประชาชนด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับประชามติในกรณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือนำไปใช้ควบคุมประชามติของประชาชนไม่ให้เบี่ยงเบนหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาลในกรณีของการปกครองระบอบเผด็จการ               
               5. ความสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ ในวงการเมืองระหว่างประเทศก็เช่นกัน ที่จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเข้ามาเป็นปัจจัยที่สำคัญ คือ พัฒนาการของเทคโนโลยีทางการสื่อสารต่าง ๆ สามารถช่วยทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดกันได้สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางด้านการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าขึ้นและเหตุผลทางด้านการเมือง จึงทำให้สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมที่แคบ เพราะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกนั่นเอง อนึ่งการติดต่อสื่อสาร หรือการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบด้านการสื่อสารโดยตรง เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศของตน สร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศอื่น ตลอดจนชักจูงให้ได้รับความสนับสนุนจากประเทศอื่น และได้ศึกษาถึง ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในประเทศอื่นที่มีต่อประเทศของตน หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบด้านการสื่อสารของการเมืองระหว่างประเทศก็คือ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานฑูตต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผู้จัดการกับการสื่อสารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะทางจิตใจ สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนชาติต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างไปจากประเทศของตน ทั้งนี้โดยอาศัยสื่อชนิดต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุ VOA หรือ Voice of America ของสหรัฐอเมริกา สถานีวิทยุ BBC ของประเทศอังกฤษ หนังสือพิมพ์เสรีภาพของสหรัฐอเมริกา หนังสือสหภาพโซเวียตของประเทศรัสเซีย เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร
               วัตถุประสงค์ของการสื่อสารในเรื่องที่บุคคลจะมาทำการสื่อสารกันนั้น ถ้าคิดกันอย่างง่าย ๆ แล้วเราจะพบว่าแน่นอนทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็จะต้องมีจุดมุ่งหมายในการที่จะมาทำการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารกลุ่มเล็ก การสื่อสารสาธารณะหรือการสื่อสารมวลชนก็ตาม ถ้าเราจะเปรียบกันง่าย ๆ ก็เหมือนกับการรวมตัวกันของคนที่บุคคลที่มารวมตัวกันนั้นย่อมมีวัตถุประสงค์ว่ามารวมตัวกันเพื่ออะไร ดังนั้นในกระบวนการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระดับใดผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการมาทำการสื่อสารกันทั้งสิ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะดูถึงวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร จึงควรจะแยกพิจารณาออกจากกันเป็นวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร และวัตถุประสงค์ของผู้รับสารเพราะหากวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ตรงกันแล้ว ผู้รับสารอาจมีปฏิกิริยาต่อสารผิดไปจากความตั้งใจของผู้ส่งสารได้ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย หรือตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสาร ทำให้เกิดความล้มเหลวในการสื่อสารขึ้น (Communication breakdown) ที่ว่าล้มเหลวนี้ต้องขอทำความเข้าใจว่าเป็นการล้มเหลวที่พิจารณาในแง่ความหมายของการสื่อสารที่มักใช้กันอยู่โดยทั่วไป ที่มักจะถือว่าเป็นการสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสารนั่นเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ กรณีการสื่อสารทางการโฆษณาสินค้า ผู้ส่งสารมีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ประชาชนผู้รับสารซื้อสินค้าของตนแต่ปรากฏว่าผู้รับสารดูโฆษณาสินค้าเพียงเพื่อความบันเทิงหรือเพียงชอบเพลงประกอบหรือชอบเนื้อหาในการนำเสนอหรือชอบดูผู้แสดง แต่ไม่ได้ซื้อสินค้านั้นตามที่ผู้ส่งสารหรือผู้โฆษณาต้องการ เช่น การที่สุภาพสตรีดูโฆษณาสินค้าประเภทเหล้าหรือเครื่องดื่มชูกำลังบางประเภท บางคนอาจชอบดูเพราะนักแสดงหล่อ เพลงประกอบไพเราะใช้เทคนิคในการถ่ายทำได้ดีและนำเสนอได้น่าสนใจ แต่เขาก็ไม่ได้ไปซื้อสินค้าประเภทนั้นมาบริโภคเป็นต้นโดยปกติแล้วสามารถจะสรุปได้ว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ดังต่อไปนี้
               ก. วัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร
                    ในการทำการสื่อสารกันแต่ละครั้ง ผู้ส่งสารจะมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
                    1. เพื่อแจ้งให้ทราบ (Inform) ซึ่งหมายความว่า ในการทำการสื่อสารนั้นผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะบอกกล่าวหรือชี้แจงข่าวสารเรื่องราว เหตุการณ์ ข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดให้ผู้รับสารได้รับทราบหรือเกิดความเข้าใจ โดยอาจผ่านทางสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์ ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งลงตีพิมพ์ข่าวสารเพื่อรายงานข่าวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประจำวันไปให้ประชาชนได้รับทราบ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็จะทำหน้าที่ในฐานะผู้ส่งสาร ส่วนประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น จะอยู่ในฐานะผู้รับสาร คือ อ่านหนังสือพิมพ์เพื่อจะได้ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงของทั้งในแง่ตัวบุคคลและในแง่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ
                    2. เพื่อสอนหรือให้การศึกษา (Teach or Educate) ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะสอนวิชาความรู้หรือเรื่องราวที่มีลักษณะเป็นวิชาการ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากเดิม ตัวอย่างเช่น วารสารหรือจุลสารเฉพาะด้าน เช่น วารสารเพื่อสุขภาพอนามัย ก็จะมีการลงตีพิมพ์บทความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ อนามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ให้วิชาความรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ ว่าจะมีอาการอะไรปรากฎออกมาบ้าง ให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติเช่นการให้ความรู้ในเรื่องการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ การปฏิบัติตนที่ถูกต้องที่จะไม่ทำให้ติดโรคดังกล่าว เป็นต้น
                     3. เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง (Please or Entertain) ซึ่งหมายความว่า ในการสื่อสารนั้น ผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดความรื่นเริงบันเทิงใจจากสารที่ตนเองส่งออกไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการพูด การเขียนหรือการแสดงกิริยาท่าทาง ตัวอย่างเช่น นวนิยาย,เพลง,ละคร,เกมโชว์ การแสดงคอนเสิร์ตนักร้องในฐานะผู้ส่งสารจะใช้คำพูดหรือคำร้อง ประกอบกิริยาท่าทางเต้น มีเสียงดนตรีประกอบ หากเป็นจังหวะที่สนุกสนาน เนื้อร้อง ทำนองดี ผู้ชมในฐานะผู้รับสารก็จะรู้สึกสนุกสนานและผ่อนคลายอารมณ์ ถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจไปในตัวได้4. เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ (Propose or Persuade) ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งสารได้เสนอแนะสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อผู้รับสาร และมีความต้องการชักจูงให้ผู้รับสารมีความคิดคล้อยตามหรือยอมรับปฏิบัติตามการเสนอแนะของตน ตัวอย่างเช่น การโฆษณาสินค้าทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือทางวิทยุกระจายเสียง หรือทางวิทยุโทรทัศน์ นิตยสารและสื่อเฉพาะกิจอื่น ๆ ผู้โฆษณาในฐานะผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะเสนอแนะสินค้าหรือบริการของตนและชักจูงใจหรือโน้มน้าวใจให้ประชาชนซื้อสินค้าของตน ทางด้านประชาชนในฐานะผู้รับสารเมื่อดูโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เหล่านั้นแล้ว จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้ายี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เป็นต้นส่วนใหญ่แล้วในกระบวนการสื่อสารมวลชน เราจะเห็นได้ว่าผู้ส่งสารหรือตัวองค์กรสื่อต่างก็ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ครบทั้ง 4 อย่างข้างต้น เช่น หนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ มีทั้งการรายงานข่าว แจ้งให้ทราบ บทความคอลัมน์ต่าง ๆ ที่ให้เกร็ดความรู้การใช้คำภาษาอังกฤษ เกร็ดความรู้อื่น ๆ เป็นการให้ความรู้ นวนิยาย หนังเรื่องบันเทิงต่าง ๆ เป็นการให้ความบันเทิง โฆษณาสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นการเสนอแนะหรือชักจูงนั่นเอง
               ข. วัตถุประสงค์ของผู้รับสาร
                   ในส่วนของผู้รับสารนั้นเมื่อได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการสื่อสารกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระดับใดก็ตาม ผู้รับสารก็จะมีวัตถุประสงค์หรือความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างจากการสื่อสารนั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปผู้รับสาร จะมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ในการทำการสื่อสารดังนี้
                              1. เพื่อทราบ (Understand) ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการสื่อสารนั้นผู้รับสารมีความต้องการที่จะทราบเรื่องราว ข่าวสาร ข้อมูล เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่มีผู้แจ้งหรือรายงานหรือชี้แจงให้ทราบ หากข่าวสารที่ได้รับทราบนั้นเป็นของใหม่ก็จะทำให้ผู้รับสารได้ข่าวสารเพิ่มเติม หากข่าวสารที่ได้รับทราบเป็นสิ่งที่เคยได้รับทราบมาก่อน ก็จะเป็นการยืนยันความถูกต้องของข่าวสารที่ตนมีอยู่ให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามหากข่าวสารที่ได้มาใหม่ขัดแย้งกับข่าวสารที่ตนมีอยู่เดิม ผู้รับสารก็จะได้ใคร่ครวญว่าข่าวสารใดมีความน่าเชื่อถือ หรือมีความถูกต้องมากกว่ากัน
                              2. เพื่อเรียนรู้ (Learn) หมายถึง การแสวงหาความรู้ของผู้รับสารจากการสื่อสาร ลักษณะของสารในกรณีนี้ มักจะเป็นสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิชาความรู้และวิชาการ เป็นการหาความรู้เพิ่มเติม และเป็นการทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระในการสอนของผู้ส่งสาร
                              3. เพื่อหาความพอใจ (Enjoy) เป็นเรื่องปกติที่คนโดยทั่วไปแล้วจะทำการสื่อสารเพื่อให้ทราบข่าวคราว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และทำการสื่อสารเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตนเองแล้ว คนเรายังมีความต้องการในเรื่องของความบันเทิงด้วย เพราะความบันเทิงสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยสร้างความสบายใจหรือเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสคนเราในฐานะผู้รับสารจึงมีความต้องการที่จะแสวงหาสิ่งที่สามารถมาช่วยสร้างความบันเทิงและสร้างความสบายใจให้แก่ตนเองบ้างเช่น ผู้รับสารอาจจะทำการสื่อสารด้วยการฟังเพลง ฟังละครวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์หน้าบันเทิง คอลัมน์บันเทิงต่าง ๆ ชมรายการโทรทัศน์บ้าง เกมโชว์บ้าง เป็นต้น
                              4. วัตถุประสงค์ของผู้รับสารในการทำการสื่อสารประการสุดท้ายนี้ก็เพื่อใช้ในการตัดสินใจหรือเพื่อการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั่นย่อมหมายถึงว่า ในการตัดสินใจของคนเรานั้น มักจะได้รับการเสนอแนะหรือชักจูงให้กระทำอย่างนั้นอย่างนี้จากบุคคลอื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในการที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไปย่อมจะมีการศึกษาทางเลือกว่าทางเลือกไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งทางเลือกในการตัดสินใจของคนเรานี้จึงขึ้นอยู่กับว่าข้อเสนอแนะนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากข้อเสนอแนะและการชักจูงจากบุคคลอื่น ๆ แล้ว การตัดสินใจของคนเรายังจะต้องคำนึงถึงการรับข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ และความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ได้สั่งสมกันมาด้วยจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น
               จะเห็นได้ว่า ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างก็มีวัตถุประสงค์และความต้องการของตนเอง เมื่อใดก็ตามที่วัตถุประสงค์หรือความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายสอดคล้องต้องกัน การสื่อสารครั้งนั้นก็จะประสบผลสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามเมื่อใดก็ตามที่วัตถุประสงค์หรือความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สอดคล้องต้องกันหรือขัดแย้งกันการสื่อสารก็จะประสบความล้มเหลว ซึ่งเป็นการพิจารณากันในด้านความหมายที่ว่าการสื่อสารเป็นการส่งสารเพื่อก่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสารที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ถ้าหากมองกันในอีกความหมายหนึ่งที่ว่า เป็นการถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ก็ถือว่ามีการสื่อสารเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งหากว่ารวมไปถึงการรับสาร ปฏิกิริยาตอบกลับ(feedback) และปฏิกิริยาที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีต่อกัน (Interaction) แล้วมีลักษณะของ Two - way Communication แม้วัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องต้องกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นการสื่อสารที่ล้มเหลว แต่ถือว่ามีการสื่อสารเกิดขึ้นแล้วเช่นเดียวกันองค์ประกอบของการสื่อสารก่อนที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบของการสื่อสารขอย้อนกลับไปที่ คำว่าการสื่อสารที่แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร และอีกฝ่ายทำหน้าที่เป็นผู้รับสาร โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเกี่ยวพันกัน นอกจากนั้นแล้วยังจะต้องมีพาหนะในการนำสารจากผู้ส่งสารไปถึงผู้รับสารด้วย พาหนะที่ว่านี้เราสามารถเรียกง่าย ๆ ว่า สื่อ นั่นเอง การทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารนี้ หากเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีผู้เข้าร่วมทำการสื่อสารกันเพียง 2 คน แล้วล่ะก้อทั้ง 2 ฝ่ายจะทำหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกันได้ เช่น ก. พูดคุยอยู่กับ ข. เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 2 มิถุนายน 2539 จากกรณีนี้ทั้ง ก. และ ข. ต่างก็ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารในเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ เมื่อ ก. พูด ข. ฟัง ก. ก็เป็นผู้ส่งสาร ข. ก็เป็นผู้รับสาร แต่เมื่อ ข. พูดโต้ตอบกลับไป ก. ก็จะเป็นฝ่ายฟังหรือผู้รับสาร แล้ว ข. ก็จะเป็นผู้พูดหรือผู้ส่งสาร ส่วนเรื่องที่ ก. และ ข. พูดคุยกันนั้น ก็คือตัวสาร (Message) และตัวพาหนะที่นำสารไปสู่ทั้ง 2 ฝ่าย ก็คือสื่อ หรือ Channel ซึ่งในที่นี้ถ้าหากเป็นการคุยกันแบบเผชิญหน้าหรือ face to face สื่อที่นำเสียงของผู้ส่งสารไปสู่โสตสัมผัสทางหูของผู้รับสาร ก็คือ อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวของผู้ที่ทำการสื่อสารกันนั่นเอง อากาศในที่นี้เราถือได้ว่าเป็นสื่อธรรมชาติ แต่ถ้าหากการพูดคุยระหว่าง ก. กับ ข. ไม่ได้เป็นแบบเผชิญหน้า แต่เป็นแบบ Person to Person ตัวต่อตัว โดยเป็นการสนทนากันทางโทรศัพท์ เราก็ยังถือว่าเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลเหมือนกัน แต่พาหนะที่นำสารไปสู่ผู้ที่ทำการสื่อสารกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอากาศเป็นโทรศัพท์นั่นเอง และตัวเครื่องโทรศัพท์นี่เองที่เป็นสื่อหรือช่องทางการสื่อสารที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ไม่ได้เป็นสื่อธรรมชาติอย่างเช่นอากาศองค์ประกอบของการสื่อสาร
องค์ประกอบของการสื่อสาร
องค์ประกอบของการสื่อสารโดยทั่วไปมี 4 ประการ คือ
1. ผู้ส่งสาร (Sender)
2. สาร (Message)
3. ช่องทางการสื่อสารหรือสื่อ (Channel)
4. ผู้รับสาร (Receiver)
                    ผู้ส่งสาร คือ ผู้เริ่มต้นการสื่อสาร (เริ่มต้นสร้างและส่งสารไปยังผู้อื่น) ในการสื่อสารครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ผู้ส่งสารจะทำหน้าที่เข้ารหัส (Encoding) อันเป็นการแปรสารให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์คิดสร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษา (ภาษาพูด,ภาษาเขียนหรือ วัจนภาษา) และอากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ (อวัจนภาษา) สารที่ถูกเข้ารหัสแล้วนี้จะถูกผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารโดยผ่านทางติดต่อทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้าผู้ส่งสารต้องการส่งสาร ก. ไปถึงผู้รับสารที่อยู่ห่างไกลจากตนอย่างรวดเร็ว ผู้ส่งสารก็อาจเลือกใช้ วิธีโทรเลข โทรศัพท์ จดหมาย ถ้าเป็นปัจจุบันก็อาจใช้โทรสาร ( Facsimile (FAX) ) หรือ E-mail (การสื่อสารผ่านทางจอคอมพิวเตอร์) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว ในสถานการณ์การสื่อสารหนึ่ง ๆ นั้นผู้ส่งสารจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญในการที่จะเป็นผู้เริ่มต้นสื่อสาร ถือเป็นบุคคลแรกที่จะทำให้กระบวนการในการสื่อสารเกิดขึ้น แต่เนื่องจากการสื่อสารของมนุษย์มีหลายประเภทและหลายระดับ เพราะฉะนั้นจำนวนของผู้ส่งสารจึงอาจจะแตกต่างกันไป เช่น การสื่อสารสาธารณะรูปแบบหนึ่ง คือ การอภิปราย ผู้ส่งสาร อาจมีจำนวนมากกว่า 1 คน และผู้ส่งสารอาจมิได้ส่งสารในฐานะที่เป็นตัวของตัวเอง แต่อาจจะส่งสารในฐานะที่เป็นตัวแทนของหน่วยงาน หรือ สถาบันใดสถาบันหนึ่ง ส่วนในกระบวนการสื่อสารมวลชนผู้ส่งสารก็คือตัวแทนขององค์กรเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน ซึ่งนอกจากจะส่งสารในฐานะที่เป็นตัวของตัวเองแล้ว ก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นตัวแทนของสถาบันการสื่อสารมวลชนนั้น ๆ ด้วยแต่การเป็นผู้ส่งสารไม่ว่าจะในการสื่อสารประเภทและระดับใดก็ตาม ย่อมต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการสื่อสารที่สำคัญ คือ
               1. การมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารที่แจ่มชัด
               2. การเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอในเนื้อหาของเรื่องราวที่ตนจะสื่อสารกับผู้อื่น
               3.การเป็นผู้มีความพยายามที่จะเข้าใจความสามารถและความพร้อมในการรับสารของผู้ที่ตนสื่อสารด้วย
               4. การสาร (Message) คือ เรื่องราวอันมีความหมายและแสดงออกมาโดยอาศัยภาษา หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ก็ตามที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้ สาร จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ส่งสารเกิดความคิดขึ้น และต้องการจะส่งหรือถ่ายทอดความคิดนั้นไปสู่การรับรู้ของผู้อื่น (ผู้รับสาร) การส่งสารนั้น ก็โดยการที่ผู้ส่งสารแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเพื่อแทนความคิดที่เกิดขึ้น พฤติกรรมที่ว่านี้ก็เช่น การพูด การเขียน การวาดการแสดงอาการหรือกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และพฤติกรรมในการแสดงออกซึ่งความคิดนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะของผู้กระทำทั้งสิ้น ความสำคัญของสารที่ถูกส่งมาจากผู้ส่งสาร ก็คือ การทำหน้าที่เร้าให้ผู้รับสารเกิดการรับรู้ความหมายและมีปฏิกิริยาตอบสนอง การที่ผู้รับสารจะรับสารที่ถูกส่งมาในรูปของสัญลักษณ์ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้รับสารมีทักษะในการรับสารมากหรือน้อย ซึ่งทักษะในการรับสารได้แก่ ความสามารถในการคิด พิจารณา ความเข้าใจทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หากผู้รับสารแสดงพฤติกรรมการรับสาร ตรงกับพฤติกรรมของผู้ส่งสาร เช่น ฟังอ่าน ดู สังเกต แสดงว่าผู้รับสารมีทักษะในการรับสารนั้น โดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ
               1. รหัสของสาร (message codes)
               2. เนื้อหาของสาร (message content)
               3. การจัดสาร (message treatment)  

               1) รหัสของสาร คือ ภาษา (Language) หรือสัญลักษณ์ (symbolic) หรือสัญญาณ (signal) ที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อใช้แสดงออกแทนความคิดเกี่ยวกับบุคคลและสรรพสิ่งต่าง ๆ เราสามารถแบ่งรหัสของสารออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                              1. รหัสของสาร ที่ใช้คำพูด (verbal message codes) รหัสของสารที่ใช้คำพูด ได้แก่ ภาษาอันเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ ได้พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษาทุกภาษาของมนุษย์มีการสร้างขึ้นและถูกพัฒนาสืบทอดมาโดยลำดับเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ทำให้สารปรากฏขึ้นได้
                              2. รหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูด (nonverbal message codes) รหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูด ได้แก่ ระบบสัญลักษณ์ สัญญาณ หรือเครื่องหมายใด ๆ ก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป็นผู้รู้จักเลือกใช้วิธีการในการสื่อสารให้เหมาะสมกับเรื่อง โอกาสและผู้รับสารของตนการใช้ถ้อยคำ เช่น อากัปกิริยา ธง ไฟ เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ในแต่ละสังคมแต่ละวัฒนธรรมพัฒนาขึ้น และรับรู้ความหมายร่วมกัน เช่น การพยักหน้า แสดงอาการตอบรับหรือแสดงความเข้าใจหรือเห็นด้วย แม้แต่ธงหรือไฟสัญญาณต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นรหัสของสารที่ไม่ใช้คำพูดทำหน้าที่เป็นการบอกเรื่องราวที่มนุษย์ตกลงรับรู้ความหมายร่วมกัน
               2) เนื้อหาของสาร ที่มนุษย์สื่อสารกันนั้นครอบคลุมถึงความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์ ที่มนุษย์ต้องการที่จะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงเนื้อหาของสารแล้วจะมีขอบเขตกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเราอาจแบ่งเนื้อหาของสารได้เป็น 3 ประเภท คือ
                              1. สารประเภทข้อเท็จจริง ได้แก่ สารที่รายงานให้ทราบถึงความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกทางกายภาพ และอยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะตรวจสอบได้ถึงความแน่นอนถูกต้องของสารนั้น ถ้าพิสูจน์ตรวจสอบแล้วสารนั้นเป็นจริง สารนั้นก็จัดได้ว่าเป็นสารที่มีคุณภาพควรแก่การเชื่อถือ
                              2. สารประเภทข้อคิดเห็น ได้แก่ สารซึ่งเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการประเมินของผู้ส่งสาร อาจเป็นความรู้สึก แนวคิด ความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองต่อบุคคลอื่น ต่อวัตถุ หรือต่อเหตุการณ์ใด ก็ตาม สารประเภทนี้เป็นสารที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ อาจทำได้เพียงแค่การประเมินความน่ารับฟัง ความสมเหตุสมผล ตลอดจนความเป็นไปได้ของสารนั้นเท่านั้น เพราะต่างคนต่างก็มีความคิด มีความรู้สึก อารมณ์ ต่อวัตถุ เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป สารประเภทนี้มักพบเห็นตามสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ เพราะเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้สื่อข่าว หรือผู้ทำข่าว ที่แค่เพียงเอาไมโครโฟนไปจ่อปากผู้ให้สัมภาษณ์แล้วถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ เกี่ยวกับคำพูด หรือความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นต้น ซึ่งสารประเภทนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนผู้รับสารเกิดความสับสนได้ง่าย ว่าเหตุการณ์จริง ๆ หรือเรื่องราวจริง ๆ เป็นอย่างไรกันแน่เพราะบางทีเราอ่านข่าว ฟังข่าว ดูข่าว เราก็อยากรู้เรื่องไปเลย ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราไม่อยากไปเสียเวลาคิด พิจารณา ใคร่ครวญหรือวิเคราะห์หาหลักฐานหรือเหตุผลอื่น ๆ มาสนับสนุนว่าที่เราอ่านมา ฟังมา หรือดูมานั้น จริงหรือไม่จริงอย่างไร ปัจจุบันเราจะเห็นว่าข่าวที่มีเนื้อหาประเภทความคิดเห็นมาก ตามหน้าสื่อมวลชนทั้งหลาย (อาจเพราะว่าทำง่าย ไม่ต้องศึกษาหรือทำการบ้านมากนัก)อย่างไรก็ตาม แม้สื่อมวลชนทั้งหลายจะพยายามเสนอสารประเภทข้อเท็จจริง หรือ Fact (พูดอะไรมา ก็เสนอหรือลงตามที่เค้าพูด เรื่องที่พูดจริงหรือไม่เราไม่รู้) หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่บางทีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ละครั้งก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือได้ มิหนำซ้ำยังอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้เหมือนกันว่าความจริงคืออะไรกันแน่ เช่น กรณีการฆาตกรรมผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (....) - ผอ.แสงชัย สุนทรวัฒน์ ที่สื่อมวลชนประโคมข่าวหรือลงข่าวกันแทบทุกวันในระยะหนึ่งนั้น สื่อมวลชนก็พยายามรายงานความคืบหน้าของข่าวดังกล่าวว่า จับมือปืนยิง ผอ.แสงชัย ได้แล้ว ซึ่งความจริงอาจเป็นแค่การจับได้เพียงผู้ต้องสงสัยแต่ยังไม่ใช่ตัวมือปืน ก็เป็นได้ แต่พอตำรวจจับมาสอบสวน สื่อมวลชนก็นำมาลงหรือนำมาเสนอต่อประชาชนผู้อ่าน ผู้ฟังว่าจับมือปืนได้แล้ว พอเรารับฟังข่าวหรืออ่านข่าว เราก็ต้องตรวจสอบ จากสื่อมวลชนฉบับอื่น ๆ หรือสถานีอื่น ๆ ว่า จับได้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการที่สื่อมวลชนจะเสนอข่าวสารให้สมบูรณ์จริง ๆ จึงน่าจะเสนอเนื้อหาของข่าวสารในลักษณะที่เป็น truth (สิ่งที่เป็นจริงหรือความจริงแท้แน่นอน) ด้วย เพราะ truth (เบื้องลึกข้อเท็จจริงที่แท้จริง แก่นจริง ๆ ของเรื่อง) นี้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลหรือรายละเอียดที่ได้ผ่านการตรวจสอบ หรือการตัดสินกันแล้วอย่างแน่ชัดว่าความจริง คืออะไร (ผู้ลงมือฆ่าเป็นใครกันแน่) โดยมากที่พบเห็นมักจะเป็นประเภทข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีการหาข้อมูล หรือหลักฐานมาอ้างอิงถึงความถูกต้องแล้วนั่นเอง ดังนั้น หากเป็นเพียงข้อสงสัย เป็นเพียงการกล่าวหา การนำข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอสู่ประชาชน จะต้องระมัดระวังเรื่องการพาดหัวข่าวด้วย เพราะประชาชนอาจเข้าใจผิดพลาดหรือเกิดความสับสนเกิดขึ้นได้ดังนั้นการเสนอข่าวสารต่าง ๆ ของสื่อมวลชนควรเสนอ Truth ให้มากที่ผ่านมามักเสนอเพียง Fact ข่าวสารปัจจุบันนี้มีแต่ความคิดเห็น ทำให้คนดู คนฟังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ประชาชนอยากทราบว่าความจริงคืออะไร สื่อมวลชนจึงควรแสวงหาความจริงมาเสนอด้วย มิใช่เสนอเพียงข้อคิดเห็นของตน ควรจะให้ภูมิหลังของเรื่องนั้นเพื่อให้ผู้รับได้ทราบว่า จริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่ใช่ให้ประชาชนฟังคนนั้นพูดที คนนี้พูดที แต่ไม่ได้เสนอมุมมองที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเลย ยิ่งโดยเฉพาะการเสนอข่าวสารในยุคปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ทำให้คนรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ได้ทราบความเป็นไปในสังคมมากขึ้น สื่อมวลชนก็ยิ่งควรตระหนักถึงเรื่องเนื้อหาของสารให้มากขึ้นด้วย
                              3. สารประเภทความรู้สึก ได้แก่พวกโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน นวนิยาย เรื่องสั้นทั้งหลายแหล่ ที่เป็นการเขียนจากจินตนาการ จากการเพ้อฝัน จากอารมณ์ศิลปินยากที่จะตรวจสอบความจริงแท้แน่นอนของข้อมูลหรือตัวสารเหมือนกัน
                              ปัจจุบันสื่อมวลชนในกระบวนการสื่อสารมวลชนโดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีเนื้อหาของสารทั้ง 3 ประเภทนี้ปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ เช่น นวนิยาย ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ละครทางโทรทัศน์ ละครทางวิทยุ แต่ทั้งนี้จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารงานของสื่อแต่ละประเภทและก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรม จรรยาบรรณและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมที่สื่อมวลชนนั้น ๆ ดำเนินการอยู่ด้วย
               3) การจัดสาร สารที่ถูกจัดเตรียมมาอย่างดี ทั้งในเรื่องของการเรียบเรียงลำดับ ความยากง่าย รูปแบบการใช้ภาษา จะทำให้สารนั้นมีคุณสมบัติในการสื่อสารได้ ตัวอย่างของการจัดสาร ที่เห็นได้ชัดก็คือ การจัดสารในการโฆษณา ซึ่งผู้ส่งสารได้ให้ความประณีตพิถีพิถันในการจัดสารเพื่อให้สารนั้นสามารถดึงดูดความสนใจของผู้รับสารสามารถที่จะให้ความเข้าใจและข้อคิดเห็นต่าง ๆ ได้ตามที่ผู้ส่งสารต้องการช่องทางการสื่อสาร หรือ สื่อ ในการสื่อสารใด ๆ ก็ตาม ผู้ส่งสารย่อมต้องอาศัยช่องทางหรือสื่อให้ทำหน้าที่นำสารไปยังผู้รับสาร โดยทั่วไปแล้วสารที่ถูกผู้ส่งสารถ่ายทอดไปยังผู้รับสารจะเข้าไปสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์โดยผ่านประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทาง ได้แก่ ทางการเห็น โดยประสาทตา ทางการได้ยิน โดยประสาทหูทางการได้กลิ่น โดยประสาทจมูก ทางการสัมผัส โดยประสาทกาย และทางการลิ้มรสโดยประสาทลิ้น
               ถ้าพิจารณาในแง่นี้แล้ว การสื่อสารระหว่างบุคคล 2 คนที่อยู่ต่อหน้ากัน สารก็จะผ่านช่องทางเหล่านี้ไปสู่การรับรู้ของผู้กระทำการสื่อสารทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในการสื่อสารสำหรับคนที่อยู่ห่างไกลกัน มนุษย์ไม่สามารถจะอาศัยทางติดต่อที่มนุษย์มีอยู่ได้ มนุษย์จึงได้สร้างสื่อขึ้นมาเป็นเครื่องช่วยให้การติดต่อระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีความเป็นไปได้ มองในแง่นี้เราจะเห็นได้ว่า แม้คำว่า "ช่องทาง" และคำว่า "สื่อ" จะมีความหมายใกล้เคียงกัน และอาจใช้แทนกันได้ แต่แท้ที่จริงแล้วคำทั้ง 2 มีความหมายแตกต่างกัน คำว่า "ช่องทาง" หมายถึงทางซึ่งทำให้ผู้ส่งสารกับผู้รับสารติดต่อกันได้ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วน "สื่อ" นั้น หมายถึงสื่อที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ อากาศ แสง เสียง ตลอดจนอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มนุษย์คิดขึ้น เพื่อใช้ติดต่อส่งสารไปถึงกันและกัน
               การจัดแบ่งประเภทของสื่อที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารนั้น อาจแบ่งได้หลายแบบไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว เช่น อาจแบ่งโดยใช้ลักษณะของสื่อเป็นเกณฑ์ หรืออาจแบ่งโดยใช้จำนวนและลักษณะของการเข้าถึงผู้รับสารเป็นเกณฑ์ก็ได้การแบ่งแบบใช้ลักษณะของสื่อเป็นเกณฑ์ มี 5 ประเภท คือ
               1. สื่อธรรมชาติ ได้แก่ บรรยากาศที่อยู่รอบตัวมนุษย์อันมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นทางติดต่อของการสื่อสารระหว่างบุคคลแบบเผชิญหน้า
               2. สื่อมนุษย์ ได้แก่ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นสื่อนำสารไปสู่ผู้รับ เช่น คนนำสาร นักเล่านิทาน โฆษก พ่อสื่อ แม่สื่อ ตัวแทนการเจรจาปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น
               3. สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สื่อทุกชนิดที่อาศัยเทคนิคการพิมพ์ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว แผ่นพับ วารสาร นิตยสาร ใบประกาศหรือแจ้งความ โปสเตอร์ ภาพ เป็นต้น
               4. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สื่อที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ระบบเครื่องกลไกไฟฟ้า เป็นหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรพิมพ์ เทปเสียง วีดีโอเทป เครื่องฉายภาพ เครื่องฉายภาพยนตร์ แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ก็ใช่ เป็นต้น
              5. สื่อระคน ได้แก่ สื่อที่ทำหน้าที่นำสารได้แต่ไม่อาจจัดไว้ใน 4 ประเภท ข้างต้น เช่น หนังสือพิมพ์กำแพง วัตถุจารึก สื่อพื้นบ้าน เป็นต้น
การแบ่งแบบใช้จำนวนและลักษณะของการเข้าถึงผู้รับสาร
               การแบ่งแบบใช้จำนวนและลักษณะของการเข้าถึงผู้รับสาร มี 4 ประเภท คือ
               1. สื่อระหว่างบุคคล เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างไกลกันจนไม่อาจจะติดต่อกันโดยไม่ผ่านสื่อหรือไม่มีสื่อได้ เป็นสื่อที่ใช้เฉพาะบุคคล มีลักษณะเป็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในขณะนั้น ๆ เช่น จดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ภาพถ่ายในครอบครัว บันทึกช่วยจำ อนุทิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำหน้าที่ช่วยให้การส่งสารระหว่างผู้ส่งถึงผู้รับที่อยู่ห่างไกลกันมีความเป็นไปได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีเครื่องมืออุปกรณ์บางชนิดที่จัดว่าเป็นสื่อที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น การประชุมกลุ่มย่อย การเรียน การสอน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้สื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่น กระดานดำ หนังสือ เอกสาร เป็นต้น
               2. สื่อมวลชน มนุษย์คิดสื่อมวลชนขึ้น เพื่อที่จะติดต่อกับผู้รับสาร เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ โดยทั่วไปแล้วสื่อมวลชน ได้แก่หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อมวลชนนี้มีประโยชน์ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารไปยังมวลชน ได้ ภายในเวลาอันรวดเร็ว
               3. สื่อเฉพาะกิจ คือ สื่อซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารที่สนับสนุน กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ จำนวนและกลุ่มผู้รับสารมีลักษณะที่แน่นอน เมื่อเทียบกับสื่อมวลชนแล้ว สื่อเฉพาะกิจ จะแคบกว่าในแง่ของการเข้าถึงผู้รับสาร เช่น การจัดทำนิตยสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ภายในหน่วยงาน การทำวีดีโอเทปแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เป็นต้น
               4. สื่อประสม ได้แก่ การนำสื่อประเภทต่าง ๆ ทั้ง 3 ประเภท ข้างต้น ไปใช้ในการสื่อสารอันจะทำให้การสื่อสารในครั้งนั้น ๆ มีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นในกรณีของสื่อนี้ หากมีการใช้โดยรู้จักข้อดีและข้อเสียของสื่อแต่ละชนิด เข้าใจ ถึงอิทธิพลของสื่อที่มีต่อพฤติกรรมการรับสาร มีการเลือกใช้สื่อให้เหมาะแก่วัตถุประสงค์ในการสื่อสารแล้ว ประสิทธิผลของการสื่อสารครั้ง ๆ นั้น ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยผู้รับสาร เป็นองค์ประกอบประการสุดท้ายในกระบวนการของการสื่อสารและเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะการสื่อสารใด ๆ ก็ตามจะไม่ประสบผลสำเร็จได้เลยหรืออาจประสบผลสำเร็จไม่เต็มที่ถ้าผู้รับสารไม่เข้าใจหน้าที่และบทบาทของตนเองที่มีต่อการสื่อสาร
                   ในกระบวนการสื่อสารนั้น ผู้รับสารมีบทบาทขั้นพื้นฐาน 2 ประการ คือ
                   1. การรู้ความหมายตามเรื่องราวที่ผู้ส่งสาร ส่งผ่านสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงตน
                   2. การแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้ส่งสาร
                   ดังนั้น ในกระบวนการสื่อสารใด ๆ ก็ตาม การสื่อสารจะเกิดประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อผู้รับสารได้พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสาร ได้แก่ การเป็นผู้ฟัง ผู้อ่าน ตลอดจนการเป็นผู้ที่สามารถคิดและรับรู้ความหมายได้ การมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ส่งสาร ต่อเรื่องที่สื่อสารตลอดจนการเป็นผู้มีความพยายามในการรับสารและสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้ส่งสารทั้งนี้เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมายนั่นเอง
                   ในการพิจารณาองค์ประกอบทางด้านผู้ส่งสารและผู้รับสารนั้น ในความเป็นจริงแล้วทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ก็คือ บุคคลอย่างน้อย 2 คน ที่มีบทบาทร่วมกันอยู่ในกระบวนการสื่อสาร ถ้าไม่มีผู้ส่งสาร และผู้รับสารแล้ว การสื่อสารก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือถ้ามีแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวก็เช่นกัน การสื่อสารก็จะไม่เกิดขึ้น
                   ข้อสำคัญ ก็คือ ในกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคลนั้น เราไม่อาจชี้ให้ตายตัวลงไปได้ว่า ใครเป็นผู้ส่งสาร และใครเป็นผู้รับสาร เพราะจริง ๆ แล้ว บุคคลที่ทำการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to Face) ระหว่างบุคคล 2 คน ทั้งสองคนต่างก็มีบทบาทเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร เกือบจะในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าทั้ง 2 คน แสดงบทบาทในฐานะที่เป็นคู่ของการสื่อสาร ต่างก็ทำหน้าที่ในการเข้ารหัส ตีความ และถอดรหัสโดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนกว่าการสื่อสารจะบรรลุเป้าหมายในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารประเภทใดหรือระดับใดก็ตาม นอกจากองค์ประกอบการสื่อสารทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็น่าจะมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีก 2 ประการ ที่จะทำให้กระบวนการติดต่อสื่อสารมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นองค์ประกอบทั้ง 2 ประการนี้ ก็คือ ปฏิกิริยาตอบกลับหรือปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (feedback) และกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) หรือสนามแห่งประสบการณ์ร่วม (Field of experience) ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารในกระบวนการสื่อสารนั้น ๆ ด้วย
เอกสารอ้างอิง


ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน