welcome for shared knowledge and experience





วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สะท้อนผลการเรียนรู้ หัวข้อ แนวคิด ทฤษฎีการสื่อสาร

ให้นักศึกษา ส่งความคิดเห็น  โดยการสะท้อนผลการเรียนรู้ที่ได้จากการเรียนใน สะท้อนผลการเรียนรู้ หัวข้อ แนวคิด ทฤษฎีการสื่อสาร  วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556  ไม่เกิน 10 บรรทัด
รูปแบบการสะท้อน

ชื่อ-นามสกุล  ........................  ระหัส ........................................
สรุปผลการเรียนรู้  และ สะท้อนความรู้สึก ...........................................
........................................................( ไม่เกิน 10 บรรทัด)

เฉลยข้อสอบ Pre-test แนวคิด ทฤษฏีการสื่อสาร

ข้อสอบย่อย
คำสั่ง     1.  ข้อสอบมีทั้งหมด   ปรนัย 10 ข้อ 
               ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) บนตัวเลือกที่นักศึกษาเห็นว่าถูกต้องที่สุด
1. ข้อใดคือความหมายของการสื่อสาร

ก.      การเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันโดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์

ข.     การหาวิธีที่เราจะติดต่อด้วยให้ได้ไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม

ค.     การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งโดยผ่านช่องทางต่างๆ

ง.      การมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวและสิ่งใหม่ที่เราต้องการ 

2. ข้อใดคือองค์ประกอบของการสื่อสาร

ก.      ผู้ส่งสาร สาร  ผู้รับสาร

ข.     ผู้ส่งสาร   ทักษะการสื่อสาร   สาร

ค.     ผู้ส่งสาร ทัศนคติของผู้รับสาร  ผู้รับสาร

ง.      ผู้ส่งสาร สังคมและวัฒนธรรมของผู้รับสาร สาร
 

3.  ข้อใดต่อไปนี้ เป็นวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

ก. เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล

ข. เพื่อถ่ายทอดสารสนเทศไปยังผู้อื่น

ค. เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ประกอบอาชีพ

ง.  ถูกทุกข้อ
 
4. ข้อใดคือการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

ก.      สมสายนำเสนอผลงานวิจัยในห้องประชุมของมหาวิทยาลัย

ข.     สมชายปรึกษาหารือกับสมศรีเรื่องการจัดประชุมประจำเดือนของแผนก

ค.     สมศรีนั่งคิดแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหน่วยงาน

ง.      สมศรีให้เลขานุการเวียนเอกสารเรื่องการเรียนเชิญพนักงานประชุมประจำเดือน


5. ข้อใดคือความบกพร่องด้านผู้รับสาร

ก.      สมจิตไม่ค่อยตั้งใจฟังเวลาครูสอน

ข.     สมใจไม่ได้ดูทีวีเพราะมีคลื่นรบกวน

ค.     สมศักดิ์ชอบฟังเพลงสากล

ง.      สมศรีชอบใช้ภาษามือในการสื่อสาร 

6. ข้อใดคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

ก.      ขุดด้วยปากถากด้วยตา

ข.     ปลาหมอตายเพราะปาก

ค.     ปากเป็นเอกเลขเป็นโท

ง.      ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด 

7. แนวคิดหลักของวจีลองของลาสเวลล์ คือ

ก.      เป็นการสื่อสารแบบง่ายๆ เห็นหน้ากันไม่จำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายแน่นอน

ข.     การเข้ารหัสและการถอดรหัสเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสาร

ค.     ผู้ส่งสารต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยมีความสามารถในการเข้ารหัส

ง.      ผู้รับสารต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยการให้ผู้รับข่าวสารข้อมูลมีประสาทสัมผัสที่ 5

 8. แนวคิดหลักของแบบจำลองของเบอร์โล (Berlo)  คือ

ก.      เป็นการสื่อสารแบบเห็นหน้า

ข.     Berlo  เป็นผู้คิดค้นกระบวนการสื่อสารในรูป SMCR Model

ค.     เนื้อหาข่าวสารที่ส่งไปยังจุดหมายปลายทางจะต้องมีจุดมุ่งหมายแต่ไม่เฉพาะเจาะจง

ง.      ให้ความสำคัญในองค์ประกอบพื้นฐานและยังให้ความสำคัญต่อการสื่อสารที่ประสบผลสำเร็จ

9. แนวคิดหลักของแบบจำลองแชนนันและวีเวอร์คือ

ก.      ไม่เน้นปัจจัยในปฏิกิริยาย้อนกลับ

ข.     องค์ประกอบสำคัญของการสื่อสาร คือ สาร ผู้รับสาร และผู้ส่งสาร

ค.     ให้ความสำคัญสิ่งที่มีผลสำเร็จในการสื่อสารคือทัศนคติ ระดับความรู้ ระบบสังคม

ง.      ให้ความสำคัญขององค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสาร (SMCR) และยังให้ความสำคัญกับสิ่งรบกวน

10. จุดเด่นของแบบจำลองออสกูดและชแรมป์คือข้อใด

ก.      กระบวนการสื่อสารเป็นการเข้ารหัสและการถอดรหัสเพื่อนำมาตีความ

ข.     กระบวนการรับสารไม่เฉพาะเจาะจงไม่ได้หวังผลแน่นอน

ค.     กระบวนการสื่อสาร คือผู้รับสารต้องสามารถถอดรหัสเพื่อตีความได้เป็นอย่างดี

ง.      กระบวนการสื่อสารเป็นกระบวนการเส้นตรงมีกระบวนการสื่อสารที่ผู้รับสารและผู้ส่งสารมีประสบการณ์ร่วมกัน

 

เฉลย
1)        ค                2)         ก               3)            ง                 4)         ข                     5)   ก
 
6)        ค               7)         ก                8)               ง               9)           ง                    10)  ก

 

 

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทฤษฎีการสื่อสาร และแบบจำลอง การสื่อสาร


ทฤษฎีการสื่อสาร

               ทฤษฎีการสื่อสารความหมายของคำว่าทฤษฎี คือ ข้อความที่อธิบายข้อเท็จจริง หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วได้รับการตรวจสอบและได้รับการยอมรับกันพอสมควรดังนั้นทฤษฎีการสื่อสาร จึงน่าจะหมายถึง คำอธิบายข้อเท็จจริง หรือปรากฏการณ์ของกระบวนการสื่อสารที่ตรวจสอบแล้ว หรือยอมรับกันแล้วตามสมควร นั่นก็คือ ยอมรับว่าหากเกิดปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จะเรียกเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นว่า "ทฤษฎีการสื่อสาร"ทฤษฎีการสื่อสาร ในที่นี้ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ "ทฤษฎี" และ"การสื่อสาร" ลองพิจารณาที่แบบจำลองการสื่อสารถ้าเราพิจารณาว่าแบบจำลองคือ คำอธิบายง่าย ๆ ในรูปของการเขียนรูปความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ต้องการอธิบาย อาจจะอธิบายเป็น แผนภาพ แผนภูมิ กราฟสัญลักษณ์ใด ๆ ซึ่งโดยสรุปอาจจะกล่าวว่า แบบจำลองก็คือ ทฤษฎีหรือตัวแทนของทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างง่าย ๆ ดังนั้น แบบจำลองการสื่อสาร ก็น่าจะหมายถึง ทฤษฎี หรือตัวแทนของทฤษฎีไม่ว่าจะเป็น กราฟ แผนภาพ แผนภูมิต่าง ๆ ที่อธิบายการทำงานหรือกระบวนการทางการสื่อสารที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ นั่นเอง
               ข้อความที่อธิบายถึงเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางการสื่อสาร ที่เกิดขึ้นแล้วได้รับการตรวจสอบและยอมรับกันตามสมควรนี้ หากจะพิจารณาอย่างง่าย ๆ เราอาจจะมองไปที่ประเด็นของการแบ่งประเภทของการสื่อสารก็ได้ เช่นการแบ่งประเภทของการสื่อสารโดยแบ่งตามขนาดของสังคม (Social Organization) หรือแบ่งตามจำนวนของผู้ร่วมในกระบวนการสื่อสารหรืออาจจะแบ่งตามความแตกต่างระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร นั่นหมายความว่าคำจำกัดความที่ให้ไว้ในแต่ละประเภทของการสื่อสาร ก็คือทฤษฎีหรือข้อความที่อธิบายถึงเหตุการณ์และปรากฏการณ์ทางการสื่อสารว่า หากมีลักษณะเช่นนี้จะเรียกว่า การสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารภายในตัวเอง การสื่อสารสาธารณะหรือการสื่อสารมวลชน เป็นต้น
ทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐาน
. ทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐาน ที่ดูจากการแบ่งประเภทของการสื่อสารโดยใช้ขนาดของสังคม หรือ จำนวนผู้เข้าร่วมในกระบวนการสื่อสารหรือบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การสื่อสารนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ ซึ่งมีดังนี้คือ
                  1. การสื่อสารภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Communication) เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นกับหน่วยวิเคราะห์ (Unit of analysis) ที่เล็กที่สุด คือ บุคคลเพียงคนเดียว การศึกษาค้นคว้าด้านนี้ส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการมาจากสาขาวิชาจิตวิทยา และสังคมวิทยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาทางสังคมการสื่อสารภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Communication) หมายถึง กระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในระบบประสาทและความนึกคิดของบุคคล ขอบเขตของการสื่อสารประเภทนี้คลุมไปถึงโครงสร้างของความคิด (Cognitive structure) การพัฒนาด้านสติปัญญา (Intellectual development) การรับรู้ (Perception) การเรียนรู้ (Learning) การแปลข่าวสาร (Interpretation) การรับรอง (Recognition) และกระบวนการทางจิตวิทยาอย่างอื่น โดยทั่วไปแล้วถือว่า Intrapersonal Communication เป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความนึกคิด (Cognitive structure)ผลการค้นคว้าวิจัยทางสังคมวิทยาที่เกี่ยวกับเรื่อง "Symbolic interaction" (ปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอาศัยสัญลักษณ์) ซึ่ง George Herbert Mead (1934) เป็นผู้นำนั้น มีอิทธิพลต่อวงการศึกษา Intrapersonal Communication อย่างมากตามทัศนะของ Mead นั้น การสื่อสารภายในตัวบุคคลเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างพฤติกรรมของบุคคล และสิ่งแวดล้อม บุคคลจะไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจทัศนคติของบุคคลอื่นหรือส่วนรวม จนกว่าเขาจะสามารถพิจารณาและเข้าใจตัวเองและสามารถตอบสนองต่อการกระทำของตัวเองเหมือนเช่นที่เขาคาดจะได้รับสนองตอบจากคนอื่น
               แบบ (Model) ของการสื่อสารภายในตัวบุคคลที่นิยมแพร่หลายเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้านั้น Heider (1946) นักจิตวิทยาทางสังคมเป็นผู้คิดค้น โดยอาศัยทฤษฎีหรือแบบของความคิด (Cognitive model) จากสาขาจิตวิทยา Heider เสนอแบบของความคิด (Cognitive Configurations) ซึ่งประกอบด้วยบุคคล (P) ที่มีทัศนคติหรือความคิดเกี่ยวกับบุคคลอื่น (S) และปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง (I) และในขณะเดียวกันก็คาดคะเนทัศนคติหรือความคิดของบุคคลอื่นนั้นเกี่ยวกับปัญหาเดียวกันด้วย Heider เสนอว่าแบบของความคิดนี้จะพยายามปรับตัวเองให้คงอยู่ในสภาพสมดุลย์ (Balance) แม้จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับความนึกคิดใหม่ก็ตาม


               โดยสรุปการสื่อสารภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Communication) จึงเป็นการสื่อสารของบุคคลคนเดียวและเป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในตัวของบุคคลคนเดียว มีคนจำนวนเพียงคนเดียวที่กระทำหน้าที่ในการสื่อสาร คือเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยมีระบบประสาทส่วนกลางของบุคคลควบคุมการสื่อสารและเป็นตัวทำให้การสื่อสารเกิดขึ้น ระบบประสาทส่วนกลางนี้จะมีประสาท 2 ส่วนแบ่งกันทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสาร ประสาทส่วนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารเรียกว่า "motor skills" ซึ่งประกอบด้วยกลไกในการออกเสียง (vocal mechanisms) ทำให้เกิดเสียงพูด เสียงร้องไห้ เป็นต้น ระบบกล้ามเนื้อที่มือทำให้เกิดตัวหนังสือหรือภาพ เป็นต้น ตลอดจนระบบกล้ามเนื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายซึ่งทำให้เกิดกิริยาท่าทาง ในขณะที่ประสาทส่วนที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับสารเรียกว่า "sensory skills" ซึ่งประกอบด้วยกลไกในการได้ยิน (hearing mechanisms) และประสาทตา เป็นต้น
               จากลักษณะข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้ในตัวบุคคลคนเดียว ก็สามารถเกิดการสื่อสารขึ้นได้ โดยอาศัยหลักที่ว่าถ้ามีผู้ส่งสารและผู้รับสาร ซึ่งในกรณีของการสื่อสารภายในตัวบุคคลนี้มี motor skills เป็นผู้ส่งสาร และ sensory skills เป็นผู้รับสารดังกล่าวข้างต้น
              ตัวอย่างของการสื่อสารภายในตัวบุคคล ได้แก่ การพูดกับตัวเอง การฝัน ละเมอ การร้องเพลงฟังคนเดียว การเขียนจดหมายแล้วอ่านตรวจทานก่อนส่ง การคิดถึงงานที่จะทำการวางแผนในสมองว่าวันนี้ตนเองจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นต้น จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าการสื่อสารภายในตัวบุคคลนี้เกิดขึ้นได้ทั้งแบบรู้สึกตัว (การพูดกับตัวเอง ฮัมเพลง ฟังคนเดียว อ่านทวนจดหมาย) และแบบไม่รู้สึกตัว (การฝัน การละเมอ) โดยจะเข้ารหัสของสารเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนก็ได้ เพราะฉะนั้นหากเกิดปรากฎการณ์ที่เข้าข่ายตามคำจำกัดความหรือคำอธิบาย ข้างต้น เราก็จะเรียกเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นว่า การสื่อสารภายในตัวบุคคล
               2. การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือการสื่อสารตัวต่อตัว หรือการสื่อสารปัจเจกชน (Interpersonal Communication or Face-to-face Communication) 
                     การสื่อสารประเภทนี้ มีการนำไปใช้และได้รับการศึกษาค้นคว้าอย่างแพร่หลายมาก การศึกษาวิชาการสื่อสารส่วนมากมักจะเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารมวลชนควบคู่กันไป หรือไม่ก็เลือกเน้นการสื่อสารประเภทใดประเภทหนึ่ง
                     Interpersonal Communication หมายถึงกระบวนการของการติดต่อสื่อสาร หรือการแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reciprocal interaction) ระหว่างบุคคลสองคน (Dyadic) หรือมากกว่านั้นขึ้นไป อาจเป็นสามคน (Triadic) หรือกลุ่มย่อย (Small-group) แล้วแต่จำนวนคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละสถานการณ์ จำนวนคนที่เกี่ยวข้องนี้ เป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่แยกระหว่างการสื่อสารระหว่างบุคคลและการสื่อสารมวลชน
                      การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบและกระบวนการทำงานของระบบการสื่อสารโดยทั่วไป การสื่อสารระดับระหว่างบุคคลนี้ มีองค์ประกอบต่าง ๆ ของการสื่อสารครบถ้วนซึ่งอาจจำแนกออกได้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่ ผู้ส่งสาร (Source) สาร (Message) สื่อ(Channel) ผู้รับสาร (Receiver) ผล (Effect) และปฏิกิริยาสนองตอบ(Feedback) นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นกระบวนการทำงานของการสื่อสารได้ชัดแจ้ง รวมทั้งชี้ให้เห็นกลไกบางอย่างซึ่งยากจะประเมินได้จากการสื่อสารมวลชน และสื่อสารประเภทอื่น เช่น ผล (Effect) และปฏิกิริยาสนองตอบ (Feedback) เป็นต้นการศึกษาค้นคว้าส่วนมากมุ่งเน้นกระบวนการ หรือกรรมวิธี (Process) และโครงสร้าง (Structure) ของการสื่อสารระหว่างบุคคล อาจอาศัยวิธีสำรวจวิจัย (Survey) หรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ (Laboratory experiment) ก็ได้ ปัญหาที่น่าสนใจและศึกษากันนั้นมีขอบเขตกว้างมาก คลุมถึงการกระจายข่าวสาร (Information flow) การแก้ปัญหาและการทำงาน (Problem solving and task performance) ความกดดันของกลุ่ม (Group pressure) และความสมดุลหรือคล้องจองของความนึกคิด (Cognitive consonance or Dissonance)
                   แบบ (Model) ของการสื่อสารระหว่างบุคคลที่นิยมใช้กันแพร่หลายเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าวิจัยนั้น Newcomb (1953) นักจิตวิทยาสังคม เป็นคนคิดขึ้นโดยดัดแปลงมาจากแบบของการสื่อสารภายในตัวบุคคลซึ่งคิดโดย Heider (1946) Newcomb เรียกแบบของการสื่อสารนี้ว่า "Co-orientation Model" (แบบของความคิดโน้มเอียงร่วม) ในสถานการณ์ที่เรียกว่า Co-orientation นั้น จะประกอบด้วยบุคคลสองคน ซึ่งต่างก็มีความคิดหรือทัศนคติเกี่ยวกับฝ่ายตรงกันข้ามและเกี่ยวกับวัตถุ (Object) หรือปัญหา(Issue) อันเดียวกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ Newcomb เสนอว่า การสื่อสารระหว่างตัวต่อตัวจะทำให้ความคิด หรือทัศนคติของบุคคลทั้งสองเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันอยู่ในสภาพสมดุล(Symmetrical relationships)แบบการสื่อสารระหว่างบุคคล (ABX) ของ Newcomb

โดยสรุปการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) นี้ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาทำการสื่อสารกันในลักษณะที่ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถแลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรง (direct) และเป็นการสื่อสารแบบตัวต่อตัว (person-to-person) หรือเป็นการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face-to-Face Communication) ซึ่งผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถเห็นหน้ากันและกันได้ในขณะที่ทำการสื่อสารกัน และสามารถสังเกตกิริยาท่าทางของฝ่ายตรงกันข้ามได้โดยตรงและทันที การสื่อสารระหว่างบุคคลนี้ บางครั้งผู้ส่งกับผู้รับก็ไม่ได้ทำการสื่อสารแบบเผชิญหน้ากัน เช่น การพูด คุยกันทางโทรศัพท์ เป็นต้น
               ดังนั้น การสื่อสารระหว่างบุคคลจึงเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่คน 2 คน ทำการสื่อสารกัน เช่นการเขียนจดหมายโต้ตอบกัน การพูดคุยหรือการสนทนากันระหว่าง 2 คน การพูดโทรศัพท์กัน ในขณะเดียวกันการสื่อสารระหว่างบุคคลอาจจะมีจำนวนคนมากกว่า 2 คนก็ได้ ถ้าคนเหล่านั้นสามารถทำการสื่อสารกันได้ และผู้ส่งสารกับผู้รับสารสามารถแลกเปลี่ยนข่าวสารกันได้โดยตรง และเป็นแบบตัวต่อตัวหรือแบบเผชิญหน้า จากลักษณะดังกล่าวนี้ย่อมจะเป็นการจำกัดจำนวนคนที่จะทำการสื่อสารประเภทนี้ไปด้วยในตัว คือ คงจะต้องมีจำนวนไม่มากจนเกินไปนัก เพราะถ้าหากมากเกินไป ลักษณะของการแลกเปลี่ยนข่าวสาร โดยตรงกับการสื่อสารแบบตัวต่อตัวจะหมดไป ทำให้การสื่อสารนั้นไม่เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลต่อไป แต่จำนวนของคนที่ร่วมทำการสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีมากกว่า 2 คนนั้น มิสามารถกำหนดลงไปได้ตายตัวว่าจะเป็นเท่าไร อาจจะพอสรุปได้แต่เพียงว่า เป็นการสื่อสารในลักษณะกลุ่มย่อย (small group) เช่นการประชุมกลุ่มย่อย การบรรยายหรือการเรียนในชั้นเรียนเป็นต้น คือ ในขณะที่คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร คนอื่น ๆ ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้รับสาร และผู้รับสารกับผู้ส่งสารสามารถแลกเปลี่ยนข่าวสารกันได้โดยตรงแบบตัวต่อตัวเหมือนกัน แต่จะช้ากว่าการสื่อสารแบบ 2 คน เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ใดหรือปรากฏการณ์ใดก็ตามที่มีลักษณะดังที่อธิบายข้างต้นนี้สามารถเรียกว่า การสื่อสารระหว่างบุคคล หรือทฤษฎีการสื่อสารระหว่างบุคคล
               3. การสื่อสารกลุ่มใหญ่ (Large group Communication or Public Communication)
                   เป็นการสื่อสารที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากซึ่งมารวมอยู่ในที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากจำนวนของคนที่มาทำการสื่อสารกันนั้นมีจำนวนมากเกินไป จึงไม่เข้าลักษณะการสื่อสารระหว่างบุคคล เพราะการสื่อสารกลุ่มใหญ่โอกาสที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารจะแลกเปลี่ยนข่าวสารกันโดยตรงนั้นมีอยู่น้อย และจะสื่อสารกันแบบตัวต่อตัวก็เป็นไปได้ยาก ตัวอย่างของการสื่อสารกลุ่มใหญ่ เช่น การอภิปรายในหอประชุม การปราศรัย หาเสียง การปาฐกถา การสอนที่มีผู้เรียนจำนวนมากจนต้องจัดผู้เรียนไปอยู่หลาย ๆ ห้องเรียน โดยอาศัยสื่อการสอนเข้ามาช่วยในการสอน เช่น การใช้โทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น
                 การสื่อสารประเภทนี้ ประกอบด้วยคนจำนวนมาก ผู้พูดหรือผู้ส่งสารกับผู้ฟังหรือผู้รับสารอยู่ห่างไกลจากกัน ดังนั้นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารกันโดยตรงจะมีน้อย และทำให้เกิดการสื่อสารแบบตัวต่อตัวยาก
ดังนั้นเหตุการณ์ใดหรือสถานการณ์ใดที่มีลักษณะตามที่กล่าวข้างต้นนี้ จะสามารถเรียกว่า การสื่อสารกลุ่มใหญ่ หรือการสื่อสารสาธารณะ หรือเป็นทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐานทฤษฎีหนึ่ง
4. การสื่อสารในองค์การ (Organizational Communication)
             ลักษณะพิเศษของการสื่อสารในองค์การอยู่ที่ว่าเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์การหรือหน่วยงานที่เป็นทางการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ นโยบาย มีการจัดองค์การมีการแบ่งงานกันทำ เพื่อปฏิบัติภารกิจขององค์การหรือหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากในการจัดองค์การนั้น มีการแบ่งสายงานและลำดับขั้นของความรับผิดชอบและการบังคับบัญชา ดังนั้นลักษณะของการสื่อสารในองค์การจึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับโครงสร้างขององค์การด้วย โดยปกติการสื่อสารในองค์การจะประกอบไปด้วย การสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา การสื่อสารระหว่างผู้ร่วมงานในระดับเดียวกัน และการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติที่อยู่คนละสายงานกันและต่างระดับกัน ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่เสมอเพื่อสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือเพื่อความสมัครสมานสามัคคี เพื่อสร้างความสงบสุขความกลมเกลียวกันของคนในหน่วยงาน ตัวอย่างของการสื่อสารในองค์การ ได้แก่ การสื่อสารในบริษัท การสื่อสารในโรงงานอุตสาหกรรมการสื่อสารในหน่วยงานราชการ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น
               จากคำจำกัดความข้างต้น จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ทางการสื่อสารที่เกิดขึ้นแล้วมีลักษณะเช่นว่านี้ สามารถเรียกว่า การสื่อสารในองค์การ ซึ่งก็เป็นทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐานทฤษฎีหนึ่งเหมือนกัน
               5. การสื่อสารมวลชน (Mass Communication)
                   กิจกรรมด้านการสื่อสารในปัจจุบันเป็นกิจกรรมที่มีความสลับซับซ้อนมากและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนและมีความเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร (Information Society) มากขึ้น การสื่อสารในสังคมปัจจุบัน จึงต้องอาศัยระบบการสื่อสารมวลชน(Mass Communication) และเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ๆ เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถทำการติดต่อสื่อสารกับคนจำนวนมากที่อยู่กระจัดกระจายกันตามที่ต่าง ๆ ได้ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จะใช้ในการสื่อสารได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับตามความเจริญของเทคโนโลยีที่มีเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อในการสื่อสารกับมวลชนได้โดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ นอกจากนั้นผู้ชมผู้ฟังยังสามารถรับชมและรับฟังได้พร้อม ๆ กันจำนวนมากแม้จะอยู่ต่างถิ่นกัน สื่อมวลชนจึงนับวันที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากยิ่ง ๆ ขึ้นในปัจจุบันเพราะการแสดงบทบาทของสื่อมวลชนก่อให้เกิดผลกระทบแก่สังคมโดยทั่วไปเช่นเดียวกับที่อธิบายในทฤษฎีต้น ๆ หากเหตุการณ์ใด หรือสถานการณ์ทางการสื่อสารใด ที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ จะเรียกว่า การสื่อสารมวลชน หรือทฤษฎีการสื่อสารมวลชน
               . ทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐาน ที่ดูจากความแตกต่างระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารเป็นเกณฑ์
นอกเหนือจากการแบ่งประเภทของการสื่อสารข้างต้นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปแล้วยังมีการแบ่งอีกประเภทหนึ่งที่น่าจะมีการพิจารณาถึง นั่นก็คือ การจำแนกประเภทของการสื่อสารโดยใช้ความแตกต่างระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารเป็นเกณฑ์การจำแนกในลักษณะนี้ คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ วัฒนธรรมและประเภทของผู้ส่งสารกับผู้รับสารเป็นหลักในการจำแนก โดยสามารถแบ่งการสื่อสารออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
                    1. การสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ (Interracial Communication)
การสื่อสารประเภทนี้เป็นการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารที่มีความแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ ประเทศบางประเทศมีพลเมืองที่ประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีทั้งคนผิวขาว ผิวดำ คนเชื้อชาติจีน เม็กซิกัน อิตาเลียน และ ยิว ส่วนในมาเลเซียนั้น มีทั้งคนจีน มาเลย์ และอินเดีย ซึ่งแต่ละเชื้อชาติก็จะมีความเป็นอยู่ มีความคิด และมีประเพณีของตนแตกต่างกันไป การสื่อสารระหว่างคนต่างเชื้อชาติกันย่อมจะมีปัญหามากกว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลเชื้อชาติเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากปัญหาทางสังคมและการเมืองในประเทศเหล่านี้ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อชาติปัญหาชนกลุ่มน้อย เป็นต้น 
                    2. การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (Cross-cultural or Intercultural Communication)
                        การสื่อสารประเภทนี้เป็นการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างคนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน แต่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น คนภาคเหนือ คนภาคกลาง คนภาคใต้ และคนภาคอีสาน ย่อมมีวัฒนธรรมของคนแต่ละภาคแตกต่างกันไป นอกจากนั้น การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมยังเกิดขึ้นได้ระหว่างคนที่เป็นประชาชนของประเทศต่างกันได้ด้วย เช่น การสื่อสารระหว่างคนไทยกับคนอเมริกัน การสื่อสารระหว่างคนไทยกับคนซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
                    3. การสื่อสารระหว่างประเทศ (International Communication) เป็นการสื่อสารระดับชาติ
                         ระหว่างคนที่เป็นประชาชนของประเทศต่างกัน ลักษณะของผู้ที่ทำการสื่อสารระหว่างประเทศนี้ มีลักษณะเป็นทางการมากกว่าการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (ในกรณีที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารเป็นประชาชนของประเทศต่างกัน) ในแง่ที่ว่าผู้ที่ทำการสื่อสารนั้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศ เช่น นักการฑูต ตัวแทนของรัฐบาล ข้าราชการ การประชุมของคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น ผู้ทำการสื่อสารมีพันธะและความรับผิดชอบต่อชื่อเสียงและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางการสื่อสารในลักษณะ ที่กล่าวข้างต้นนี้ ก็สามารถจะเรียกเฉพาะเจาะจงไปเลยว่า การสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และการสื่อสารระหว่างประเทศ โดยจะต้องดูว่าเหตุการณ์นั้น ๆ เข้าข่ายการสื่อสารประเภทไหนก็เรียกไปตามนั้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อความที่อธิบาย (หรือทฤษฎี) ทางการสื่อสารขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน
                              อย่างไรก็ตามแม้ว่าการสื่อสารระหว่างประเทศ (International Communication) จะเป็นสาขาวิชาหนึ่งของการศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน ที่เพิ่งวิวัฒนาการและได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ขอบเขตของวิชานี้กว้างมาก คลุมถึงกระบวนการและกิจกรรมการสื่อสารระหว่างมนุษย์ทั้งหมดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากคำ International Communication แล้ว ยังมีศัพท์อีกคำหนึ่งที่ใช้สับเปลี่ยนกันเสมอในการเรียกสาขาวิชานี้ คือ Cross - cultural or Intercultural Communication (การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม) ศัพท์ทั้งสองคำนี้มีความหมายคล้ายคลึงกันมาก Intercultural (หรือ Cross-Culture) Communication หมายถึงการแลกเปลี่ยนความหมายระหว่างระบบวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ส่วน International Communication หมายถึงกระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐหรือประเทศ ฉะนั้น Intercultural และ International Communication อาจหมายถึง กระบวนการและเหตุการณ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น การสื่อสารระหว่างสองประเทศที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างกัน เช่นไทยกับสหรัฐอเมริกาอย่างไรก็ตาม Intercultural และ International Communication อาจหมายถึง กระบวนการและเหตุการณ์ที่แตกต่างกันได้ กรณีแรกประชาชนอาจมีขนบประเพณีเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่ถูกแบ่งแยกโดยดินแดนหรือแยกกันอยู่คนละประเทศ เช่นเยอรมันตะวันตกและตะวันออก เกาหลีเหนือและใต้ ในกรณีเช่นนี้ International Communicationเกิดขึ้นภายในระบบวัฒนธรรมเดียวกัน กรณีตรงกันข้ามประชาชนมีพื้นฐานขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างกันอาจมารวมกันอยู่ภายในประเทศเดียวกันได้ เช่น อินเดียมาเลเซีย ในกรณีเช่นนี้ Intercultural Communication เกิดขึ้นภายในรัฐหรือประเทศเดียวกันอย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนมากมุ่งเน้นวิเคราะห์กระบวนการและกิจกรรมการสื่อสารในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่แตกต่างกันในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบผลการค้นคว้า ถ้าพิจารณาจากประวัติการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา อาจแบ่ง International and/or Intercultural Communication ได้เป็น 4 สาขาย่อยคือ
                              1. การกระจายข่าวสารระหว่างประเทศ (International flow of information)
                              2. การเปรียบเทียบระบบและพัฒนาการของการสื่อสาร (Comparative studies of communication systems and growth)
                              3. การค้นคว้าเรื่องผลของการสื่อสาร (Studies of communication effects)
                              4. การค้นคว้าเรื่องการสื่อสารและการพัฒนาประเทศ (Communication and national development or modernization)
แบบจำลองการสื่อสาร
               แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐานแบบจำลองพื้นฐานทางการสื่อสาร เป็นแผนภาพที่ใช้อธิบายการสื่อสารอย่างง่าย ๆ บางแบบก็มีความยุ่งยากซับซ้อน บางแบบอธิบายปัจจัยในตัวคน บางแบบก็อธิบายความสัมพันธ์ของคนกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือบางแบบก็มองอิทธิพลของสังคมต่อการกระทำการสื่อสารของคน แต่อย่างไรก็ตามแบบจำลองแต่ละแบบก็มีจุดมุ่งหมายในการอธิบายกระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันเพราะแบบจำลองก็คือ คำอธิบายตัวทฤษฎีโดยพยายามทำให้ง่ายและสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ สามารถกำหนดทางเลือกของการคาดคะเนพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ได้ เป็นคำอธิบายของกระบวนการสื่อสารโดยทั่ว ๆ ไปได้ โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกระบวนการสื่อสารประเภทใด แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือว่า แต่ละทฤษฎีหรือแบบจำลองนั้นไม่สามารถจะอธิบายกระบวนการสื่อสารทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ต้องอาศัยทฤษฎีหลาย ๆ ทฤษฎีมาช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แบบจำลองการสื่อสารที่จะกล่าวในที่นี้จะมีเพียง 5 แบบจำลอง จากหลาย ๆ แบบจำลองที่เป็นแบบจำลองหรือทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ดังนี้
               1. แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐานตามแนวคิดของแชนนันและวีเวอร์
                   แชนนัน (C. Shannon) และวีเวอร์ (W. Weaver) ได้สร้างแบบจำลอง การสื่อสารขั้นพื้นฐาน เมื่อปี พ.. 2492 ซึ่งถือเป็นแบบจำลองที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการสื่อสารยุคเริ่มต้นในชื่อว่า แบบจำลองการสื่อสารเชิงทฤษฎีคณิตศาสตร์ (The Mathematical Theory of Communication) ที่ชื่อเป็นแบบนี้เพราะผู้คิดค้นแบบจำลองที่ชื่อว่า แชนนัน เป็นนักคำนวณด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเขาคิดค้นขึ้นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านการสื่อสารทางโทรศัพท์ในประเด็นที่ว่า การติดต่อสื่อสารประเภทใดจึงจะทำให้จำนวนของสัญญาณมีได้มากที่สุด และสัญญาณที่ถ่ายทอดไปจะถูกทำลายโดยสิ่งรบกวนมากน้อยเพียงไรนับแต่เริ่มส่งสัญญาณไปจนถึงผู้รับแบบจำลองการสื่อสารประเภทนี้ เป็นแบบจำลองการสื่อสารที่พยายามเอาวิชาการหรือทฤษฎีทางด้านคณิตศาสตร์มาอธิบายถึงกระบวนการหรือปรากฏการณ์ทางการสื่อสาร การสื่อสารตามแนวความคิดของแชนนัน และเพื่อนร่วมงานที่ชื่อว่า วีเวอร์นั้นเป็นแบบจำลองกระบวนการสื่อสารทางเดียวในเชิงเส้นตรง คือ ถือว่าการสื่อสารเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำการสื่อสารตามแบบจำลองของแชนนันและวีเวอร์ มีด้วยกัน 6 ประการ ตามแผนภาพดังนี้
 

              จากแบบจำลองนี้ จะเห็นได้ว่า "แหล่งสารสนเทศ" จะทำหน้าที่ สร้างสารหรือเนื้อหาข่าวสารซึ่งอาจเป็นรูป คำพูด ข้อเขียน ดนตรี หรือ รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งสารนี้จะถูกสื่อออกไป โดยสารนั้นจะถูกสร้างขึ้นเป็นสัญญาณโดย "ตัวถ่ายทอด" หรือ "ตัวแปลสาร" สัญญาณนี้จะถูกปรับเปลี่ยนโดยเหมาะกับ "ทางติดต่อ" หรือ "ผ่านช่องสาร" ไปถึง "ผู้รับ" หน้าที่ของ "ผู้รับ" จะแปลงสัญญาณที่ได้รับกลับมาเป็นสาร แสดงว่า "สาร" ไปถึงจุดหมายปลายทางของการสื่อสาร
               ตัวอย่าง เช่น นาย ก. แหล่งสารสนเทศ ส่งเนื้อหาข่าวสารเป็นคำเขียนโดยส่งผ่านเครื่องส่งหรือตัวแปลสารหรือตัวถ่ายทอด แปลงคำเขียนเป็นสัญญาณ เช่น สัญญาณโทรเลข โทรสารส่งผ่านช่องสารโดยสัญญาณนั้น จะต้องเหมาะสมกับช่องสารด้วยก่อนไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง โดยผ่านสัญญาณนั้นมาที่เครื่องรับทางฝ่ายผู้รับ เพื่อแปลงสัญญาณกลับมาเป็นเนื้อหาของสาร (คำเขียน) อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงส่งไปยังจุดหมายปลายทาง (สมมตินาย ข. เป็นผู้รับสาร ผู้รับสารรับทราบสารดังกล่าว) ซึ่งอาจเกิดอุปสรรคหรือเสียงรบกวนหรือสิ่งรบกวนได้ในขบวนการของช่องทางการสื่อสาร แล้วแต่กรณี ๆ ไป เช่น กรณีโทรสารที่ส่งผ่านมาทางสัญญาณโทรศัพท์ ผู้ส่งอาจส่งมาจำนวน 5 หน้า แต่ผู้ได้รับอาจได้รับเพียง 4 หน้า อุปสรรคอาจเกิดจากปัญหาของสัญญาณ หรือ จากการส่งถึงฝ่ายสารบรรณ ก่อนถึงตัวผู้รับแล้วจำนวนหน้าอาจหายไป 1 หน้าก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดต่อสื่อสารกลับไปยังผู้ส่งสารใหม่ เพื่อให้ส่งเนื้อหาของสารหน้าที่ขาดหายไปมาใหม่ (ตามกระบวนการเดิมข้างต้น) แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ การลดอุปสรรคทางการสื่อสารนี้อาจทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่กระทำในการลดอุปสรรคทางการสื่อสารนี้ อาจทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย หรือทำให้ข้อมูลที่ต้องการส่งออกไปยังผู้รับลดน้อยลงได้ ในครั้งหนึ่ง ๆ เช่น ในกรณีข้างต้นที่ต้องมีการติดต่อกลับไปยังผู้ส่งสารใหม่ เพื่อจัดส่งข้อมูลหน้าที่ขาดหายไป ส่วนกรณีหลังการส่งข้อมูลซ้ำ ๆ ในช่องทางของการโทรสาร (Fax) จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรือถ้าหากมีการกำหนดในการส่งสัญญาณแต่ละครั้งว่ากี่หน้า ก็จะทำให้ส่งข้อมูลออกไปได้น้อยลง แบบจำลองการสื่อสารเชิงคณิตศาสตร์ของแชนนันและวีเวอร์นี้ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งความคิดและกระตุ้นให้นักวิชาการเกิดความสนใจในการคิดค้นแบบจำลองการสื่อสารของมนุษย์มากยิ่งขึ้น
               2. แบบจำลองการสื่อสารขั้นพื้นฐานตามแนวคิดของลาสเวลล์
                   ฮาโรลด์ ดี ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เสนอบทความที่เป็นการเริ่มต้นอธิบายการสื่อสารที่มีคนรู้จักมากที่สุด ในปี พ.. 2491 โดยเสนอว่า วิธีที่สะดวกที่จะอธิบายการกระทำการสื่อสารก็คือ การตอบคำถามต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                 1. ใคร (who)
  2. กล่าวอะไร (says what)
  3. ผ่านช่องทางใด (in which channel)
  4. ถึงใคร (to whom)
  5. เกิดผลอะไร (with what effect)
จากข้อความดังกล่าวข้างต้น สามารถเขียนเป็นแบบจำลองการสื่อสารได้ดังนี้


แบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์เป็นทฤษฎีการสื่อสารที่อธิบายกระบวนการสื่อสารเชิงพฤติกรรม เป็นการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เนื้อหาข่าวสารชนิดของสื่อ และผลที่เกิดจากการกระทำการสื่อสารนั่นเอง
               นอกเหนือจากนั้นแบบจำลองการสื่อสารของลาสเวลล์ข้างต้นนี้ ยังถือว่าเป็นตัวแทนของแบบจำลองการสื่อสารในระยะแรก ๆ แบบจำลองนี้ถือว่า ผู้ส่งสารมีเจตนาในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้รับสาร เพราะช่วงระยะเวลาที่ลาสเวลล์ให้คำอธิบายนี้ เป็นระยะที่นักวิชาการผู้สนใจวิชาการทางด้านนี้มีความเชื่อว่า กระบวนการสื่อสารนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นกระบวนการในเชิงโน้มน้าวใจ และถือว่า สารที่ส่งไปนั้นจะต้องมีผลเสมอไป และโดยส่วนตัวแล้วลาสเวลล์เป็นผู้ที่สนใจต่อการสื่อสารทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อ แบบจำลองนี้จึงเหมาะแก่การใช้วิเคราะห์การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองและการโน้มน้าวใจ แต่อย่างไรก็ตามมีผู้วิจารณ์ทฤษฎีนี้ว่า ลาสเวลล์อธิบายกระบวนการสื่อสารอย่างง่ายเกินไปเพราะจริง ๆ แล้วกระบวนการสื่อสารมีความซับซ้อนมากกว่าที่จะพิจารณาเพียงว่าผู้ส่งสารส่งข่าวสารไปยังผู้รับสารโดยผ่านช่องทางการสื่อสารแบบหนึ่งแบบใด และเกิดผลจากการสื่อสารนั้น ๆ ซึ่งผลในที่นี้ไม่ได้ดูในแง่ปฏิกิริยาตอบกลับของผู้รับสารว่าพอใจหรือไม่พอใจ เชื่อหรือไม่เชื่อ คิดแต่เพียงว่าจะต้องมีผลตามเจตนารมณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการ เช่นต้องการโฆษณาชวนเชื่อหรือโน้มน้าวใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นต้น เพราะการสื่อสารโดยทั่วไปยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกิดขึ้นในขณะทำการสื่อสารด้วย เช่น สภาพสิ่งแวดล้อม จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร และข้อสำคัญทฤษฎีนี้ขาดปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในกระบวนการสื่อสารนั่นคือ ผลสะท้อนกลับหรือปฏิกิริยาตอบกลับ
(feedback)ในกรณีของปฏิกิริยาย้อนกลับ (Feedback) หรือบางคนก็เรียกว่าผลสะท้อนกลับหรือปฏิกิริยาตอบกลับนี้ ถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารกลุ่มเล็ก-กลุ่มใหญ่ หรือการสื่อสารมวลชน เพราะปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงผลของการสื่อสารในแต่ละครั้งว่าผู้รับสารมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรต่อสารที่ได้รับนั้น นอกจากนั้น ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะทำให้องค์ประกอบของการสื่อสารครบบริบูรณ์ขึ้น คือ มีการสื่อสารทั้งจากผู้ส่งสาร และผู้รับสารที่เรียกว่า Two-way Communication หรือการสื่อสารสองทาง ซึ่งสามารถที่จะเขียนออกมาเป็นแบบจำลองคร่าว ๆ คือ



                            ตัวอย่างในเรื่องของปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้ หากเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลจะสังเกตเห็นได้ง่ายโดยตรงและทันที เช่น ก. ผู้ส่งสาร ทำการสื่อสารกับ ข. ผู้รับสารโดยคุยกันเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ หาก ข. มีความรู้สึก หรือมีความคิดหรือมีทัศนคติไม่เห็นด้วย ข. ก็สามารถแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปได้ทันท่วงทีด้วยการใช้คำพูดหรือการใช้กิริยาท่าทางที่นิ่งเฉยก็ได้ ซึ่ง ก. จะได้รับรู้ในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นการสื่อสารในระดับการสื่อสารมวลชนที่ผ่านทางองค์กรสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นั้นปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะเป็นไปได้ช้ากว่าการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ลงข่าวหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วผู้อ่านไม่เห็นด้วย ผู้อ่านหรือผู้รับสารอาจสามารถแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับได้ด้วยการส่งจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้น ๆ หรือหากไม่ชอบกับการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับใดมาก ๆ อาจจะแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับด้วยการเลิกซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็ได้ แต่ถ้าเป็นสื่อวิทยุ และวิทยุโทรทัศน์แล้วเป็นการจัดรายการสดมีการเปิดโอกาสให้ผู้รับฟังและรับชมสามารถโทรศัพท์เข้าไปแสดงความคิดเห็นในรายการได้โดยตรง ก็ถือว่าเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปยังผู้ส่งสารได้รวดเร็วเช่นกัน เพียงแต่ผู้รับสารจำนวนมาก ๆ เหล่านั้นไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบกลับได้ในเวลาเดียวกันหมดทุกคน (มีความแตกต่างในเวลาในการแสดงปฏิกิริยาตอบกลับ)

                3. แบบจำลองการสื่อสารตามแนวความคิดของออสกูดและวิลเบอร์ ชแรมม์
                    แบบจำลองการสื่อสารที่ออสกูดเป็นต้นคิด และวิลเบอร์ ชแรมม์ นำมาขยายความและเป็นผู้เสนอไว้ในปี พ.. 2497 นี้ มีลักษณะเป็นวงกลม ที่เน้นให้เห็นว่า ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างกระทำหน้าที่อย่างเดียวกันในกระบวนการสื่อสาร นั่นคือ การเข้ารหัส (encoding) การถอดรหัส (decoding) และการตีความ (interpreting) ซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพได้ดังนี้

แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของออสกูดและวิลเบอร์ ชแรมม์


ความหมายของการเข้ารหัส การถอดรหัส และการตีความสาร

               การเข้ารหัสหมายถึง การที่ผู้ส่งสาร แปลสาร (ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก) ให้เป็นภาษาหรือรหัสอื่น ๆ ที่เหมาะแก่วิธีการถ่ายทอด หรือสื่อ หรือช่องทางการสื่อสาร และเหมาะกับผู้รับสารกลุ่มเป้าหมาย การถอดรหัส หมายถึง การที่ผู้รับสารแปลรหัส หรือ ภาษากลับเป็นสาร (ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก) อีกครั้งหนึ่งเพื่อสกัดเอาความหมายที่ผู้ส่งสารส่งมาหรือต้องการสื่อความหมายมาการตีความสาร หมายถึง การที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถที่จะตีสารที่ตนได้รับไปในทางที่อีกฝ่ายหนึ่งประสงค์ (ตีความหมายสารได้ตรงกัน) การสื่อสารในครั้งนั้น ๆ ก็จะสัมฤทธิ์ผล การตีความสารนี้มีความสำคัญมากต่อผลของการสื่อสาร และการตีความสารของผู้ส่งสารและผู้รับสารจะคล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกันจะขึ้นอยู่กับกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) ของผู้กระทำการสื่อสารทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสำคัญ
               ตัวอย่างของการเข้ารหัสและการถอดรหัส เช่น ในการสนทนาระหว่างบุคคล 2 คน การทำหน้าที่เข้ารหัสสาร กระทำได้โดยกลไก การพูด และกล้ามเนื้อซึ่งสามารถแสดงอากัปกิริยาได้ ส่วนการถอดรหัส จะเกิดขึ้นได้โดยประสาทสัมผัสทั้งหลายเช่น ประสาทสัมผัสของการได้ยินได้ฟัง ประสาทสัมผัสของการเห็น สัมผัสแตะต้อง ตลอดจนการได้กลิ่นและการได้ลิ้มรส
               ตัวอย่างของการตีความสารตามกรอบแห่งการอ้างอิง (Frame of reference) หรือกรอบแห่งประสบการณ์ร่วม (Field of experience) เช่น ในการสื่อสารระหว่างสมชาย (พ่อ) กับสมศักดิ์ (ลูก) ในตอนสายของเช้าวันหนึ่ง ที่พ่อเข้ามาเห็นลูกนั่งอยู่ที่บ้านโดยยังไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อจึงถามสมศักดิ์ว่า ทำไมจึงยังไม่ไปโรงเรียน สมศักดิ์ ตอบพ่อว่า "ผมไม่มีมู้ด" เมื่อสมชาย (พ่อ) ได้ยินเช่นนั้น ก็บอกว่า "เอ้า ไม่มีมู้ด ก็เอาเงินไปซื้อซะ" สมศักดิ์ก็ตอบว่า "พ่อไม่เข้าใจ ผมไม่มีมู้ดครับ" ที่เป็นเช่นนี้เพราะ สมชายตีความสารที่สมศักดิ์ส่งมาในการสื่อสารครั้งนั้นผิดพลาดไป โดยคิดว่ามู้ดเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างกับที่สมศักดิ์เคยขอสตางค์ไปซื้อเพื่อนำไปโรงเรียน นั่นหมายความว่าสมชายตีความสารของสมศักดิ์จากประสบการณ์ร่วมที่เคยมีกันมาก่อน

               4. แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โล
                    เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo) เสนอแบบจำลองการสื่อสารไว้ เมื่อปี พ.. 2503 โดยอธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญ 6 ประการ คือ
                 1. ต้นแหล่งสาร (communication source)
                 2. ผู้เข้ารหัส (encoder)
                 3. สาร (message)
                 4. ช่องทาง (channel)
                 5. ผู้ถอดรหัส (decoder)
                 6. ผู้รับสาร (communication receiver)
               จากส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญ 6 ประการนั้น เบอร์โล ได้นำเสนอเป็นแบบจำลองการสื่อสารที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปว่า "แบบจำลอง SMCR ของเบอร์โล"(Berlo's SMCR Model) โดยเบอร์โลได้รวมต้นแหล่งสารกับผู้เข้ารหัสไว้ในฐานะต้นแหล่งสารหรือผู้ส่งสาร และรวมผู้ถอดรหัสกับผู้รับสารไว้ในฐานะผู้รับสาร แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โลนี้ จึงประกอบไปด้วย S (Source or Sender) คือ ผู้ส่งสาร M (Message) คือ สาร C (Channel) คือ ช่องทางการสื่อสาร R (Receiver) คือ ผู้รับสาร ซึ่งปรากฏในภาพต่อไปนี้




                                                        แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเดวิด เค เบอร์โล
(แบบจำลองการสื่อสาร S M C R)  จากแบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของเบอร์โลข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ส่งสาร (Source or S) คือ ผู้เริ่มต้นการสื่อสาร ทำหน้าที่ในการเข้ารหัส ซึ่งผู้ส่งสารจะทำหน้าที่ในการสื่อสารได้ดีเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติต่าง ๆ 5 ประการคือ
               1. ทักษะในการสื่อสาร เช่น ความสามารถในการพูด การเขียน และ ความสามารถในการคิดและการใช้เหตุผล เป็นต้น
               2. ทัศนคติ หมายถึง วิธีการที่บุคคลประเมินสิ่งต่าง ๆ โดยความโน้มเอียงของตนเองเพื่อที่จะเข้าถึงหรือเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ๆ เช่น ทัศนคติต่อตนเอง ต่อหัวข้อของการสื่อสาร ต่อผู้รับสาร ต่อสถานการณ์แวดล้อมการสื่อสารในขณะนั้น เป็นต้น
               3. ความรู้ หมายถึง ความรู้ของผู้ส่งสาร ในเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ บุคคลหรือกรณีแวดล้อมของสถานการณ์การสื่อสารในครั้งหนึ่ง ๆ ว่ามีความแม่นยำหรือถูกต้องเพียงไร
               4. ระบบสังคม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการสื่อสารของบุคคล เพราะบุคคลจะขึ้นอยู่กับกลุ่มทางสังคมที่ตนเองอยู่ร่วมด้วย
               5. ระบบวัฒนธรรม หมายถึง ขนบธรรมเนียม ค่านิยม ความเชื่อ ที่เป็นของตัวมนุษย์ในสังคม และเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในการสื่อสารด้วย เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรมกัน อาจประสบความล้มเหลวได้เนื่องจากความคิดและความเชื่อที่มีไม่เหมือนกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร
               ในแง่ของสาร (Message or M) นั้น เบอร์โล หมายรวมถึง ถ้อยคำ เสียง การแสดงออกด้วยสีหน้า อากัปกิริยาท่าทาง ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขณะที่เป็นผู้ส่งสาร ถ้าความหมายเป็นทางการ ก็คือ ผลผลิตทางกายภาพที่เป็นจริงอันเกิดจากผลการเข้ารหัสของผู้ส่งสารนั่นเอง ตามความคิดของเบอร์โลนั้น สารมีคุณสมบัติ 3 ประการคือ
               1. รหัสของสาร (message code) เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง หรือรหัสอื่น
               2. เนื้อหา (content)
               3. การจัดสาร (treatment) คือ วิธีการที่ผู้ส่งสารเลือกและจัดเตรียมเนื้อหาของสาร เช่น การใช้ภาษา ไวยากรณ์ ศัพท์ รวมถึง คำถาม คำอุทาน ความคิดเห็น เป็นต้น สารที่ถูกจัดเตรียมไว้ดี จะทำให้เกิดการรับรู้ความหมายในผู้รับสารด้
ส่วนช่องทาง
(Channel or C) ช่องทาง ซึ่งเป็นพาหนะนำสารไปสู่ผู้รับสาร และตามทัศนะของเบอร์โล ทางติดต่อหรือช่องทางที่จะนำสารไปสู่ประสาทรับความรู้สึกทั้ง 5 ประการของมนุษย์ ได้แก่
1. การเห็น
2. การได้ยิน
3. การสัมผัส
4. การได้กลิ่น
5. การลิ้มรส
               ประการสุดท้ายในด้านของผู้รับสาร (Receiver or R) นั้น ก็จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ 5 ประการ เช่นเดียวกับผู้ส่งสาร คือ ทักษะในการสื่อสาร ทัศนคติ ความรู้ ระบบสังคมและระบบวัฒนธรรม
               5. แบบจำลองการสื่อสาร ABX ของธีโอดอร์ นิวคอมบ์
                   แบบจำลองการสื่อสารตามแนวคิดของนิวคอมบ์นี้ เป็นแบบจำลองเชิงจิตวิทยา เน้นว่า การสื่อสารจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการให้เกิดความสมดุลหรือความเหมือนกัน ทางความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมต่าง ๆ โดยมองว่าการสื่อสารสามารถช่วยให้เกิดความตกลงใจหรือยอมรับในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือน ๆ กัน แต่เมื่อใดเกิดความไม่สมดุลแน่นอนความยุ่งยากทางจิตใจจะเกิดขึ้น แน่นอนมนุษย์ก็จะพยายามทำการสื่อสารในรูปของการแสวงหาข้อมูลจากที่ต่าง ๆ อาจจะเป็นสื่อมวลชน เพื่อนฝูง คนรอบข้าง คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลนั้น โดยนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อขจัดความยุ่งยากหรือความเครียดอันเกิดจากความไม่สมดุลนั้น ๆ
แบบจำลอง ABX ของนิวคอมม์ นี้ เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ของคน 2 คน ( คือ A และ B ) กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ วัตถุ สิ่งของ หรืออื่น ๆ (ในที่นี้สมมติว่าเป็น X ) จะได้ครบตามชื่อทฤษฎีเลย คือทั้ง A ทั้ง B และ XX

 



รูปแสดงความสัมพันธ์ของคน 2 คน คือ A กับ B และทัศนคติที่มีต่อวัตถุ (Xการสื่อสารดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเพื่อที่จะสนับสนุนทัศนคติที่มีต่อกัน โดยการรักษาความสมดุลย์ให้คงไว้ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ยิ่งขึ้น โดยการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการปรับตัวหรือปรับทัศนคติ นั่นคือ ความต้องการความสมดุลย์กระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร (การแลกเปลี่ยนข้อมูล, ความคิดเห็น) ซึ่งเป็นลักษณะปกติของความสัมพันธ์ เช่น A กับ B ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้รู้สึกไม่ชอบหน้าหรือไม่ได้เกลียดกัน หรืออย่างน้อยก็เฉย ๆ แนวโน้มที่ A กับ B จะมีความคิดหรือทัศนคติ ต่อ X ที่คล้ายคลึงกันก็ได้ แต่ถ้าความรู้สึกหรือทัศนคติที่มีต่อ X ไม่เหมือนกันเลย ก็อาจจะมีทางออกได้ 3 อย่างคือ ทั้ง A และ B ต่างก็ต้องหันกลับไปทำการสื่อสารด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองมีความรู้สึกต่อ X ถ้าหากเดิม A ชอบ X แต่ B ไม่ชอบ X เมื่อต่างฝ่ายต่างหาข้อมูลมาสนับสนุนหรือเพื่อลดความขัดแย้งแล้ว เหตุผลของ A ดีกว่า B ก็อาจจะหันมาชอบหรือเห็นด้วยกับ X ก็ได้ แต่ถ้าหากเหตุผลของ B ดีกว่า A ก็อาจจะหันมาไม่ชอบ X ไปกับ B ด้วยก็ได้หรือถ้าหากไม่ได้เป็นไปใน 2 แนวทางนั้น ก็อาจมีหนทางที่ 3 ก็คือต่างคนต่างยืนยันในสิ่งที่ตนเองชอบ และไม่ชอบ ก็จะทำให้ความคิดของทั้งสองฝ่ายคงเดิมแล้วบุคคลทั้ง 2 ก็เลิกทำการติดต่อกันเสียในเรื่องนั้น ๆ เพราะฉะนั้นเหตุและผลของการกระทำการสื่อสาร มิได้เป็นไปเพื่อการสร้างความเหมือนกันหรือความสมดุล กันแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นไปเพื่อยืนยันความแตกต่างกันก็ได้หรือเพื่อสร้างสัมพันธภาพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นก็ได้แบบจำลองของนิวคอมป์นี้ ไม่สามารถนำไปอธิบายการสื่อสารของกลุ่มขนาดเล็กในระดับสังคมที่ใหญ่โตได้ เพราะสังคมที่ใหญ่นั้น มนุษย์มิได้มีความต้องการที่จะให้เหมือนกัน หรือไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนระดับบุคคลนอกจากแบบจำลองการสื่อสารตามแนวความคิดของนิวคอมป์แล้วยังมีการศึกษาค้นคว้าแบบเดียวกันกับของนิวคอมป์ คือ การศึกษาของนักจิตวิทยาสังคม ที่ชื่อว่า เฟสติงเจอร์ เมื่อปี พ.. 2500 เฟสติงเจอร์ เป็นผู้ตั้งทฤษฎีความไม่สอดคล้องทางความคิด (Cognitive Dissonance Theory) โดยค้นพบว่า การตัดสินใจ ทางเลือกและข่าวสารข้อมูลใหม่ ๆ ทั้งหลาย มีศักยภาพสูงพอที่จะก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องกันหรือความไม่เหมือนกันทางความคิด ก่อให้เกิดความยุ่งยากใจ เป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ดังนั้นผู้ที่เกิดความยุ่งยากใจหรือเกิดความคิดที่ไม่สอดคล้องกัน จะถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกนั้น ๆ ให้ต้องไปแสวงหาข้อมูลเพื่อจะมาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ หรือการเลือกทางเลือกที่ได้ตัดสินใจกระทำลงไป เช่น ซื้อรถมาคันหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่วายที่จะแสวงหาข้อมูลที่จะมาสนับสนุนการตกลงใจ หรือการตัดสินใจของตนเองอยู่เสมอ อาจจะด้วยการอ่านโฆษณาเกี่ยวกับรถ นิตยสารรถ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นยี่ห้อเดียวกับที่ตนซื้อมา หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ ที่ตัดสินใจซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เหมือนกับตน มากกว่าที่จะอ่านโฆษณารถหรือผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่น ๆ หรือมากกว่าที่จะติดต่อสื่อสารกับคนที่ตัดสินใจไม่เหมือนตน แต่ในบางครั้งก็อาจแสวงหาข่าวสารผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน แต่เป็นยี่ห้ออื่น ๆ เพื่อหาข้อเสียหรือจุดบกพร่องของยี่ห้อนั้น ๆ เพื่อเป็นการเน้นถึงสิ่งที่เราได้ตัดสินใจกระทำลงไปว่าถูกต้องและดีที่สุดแล้วเช่นกัน
 


 

รายการบล็อกของฉัน